โรคหูด (Warts) โรคผิวหนังที่พบบ่อย

โรคหูด (Warts)
โรคหูด (Warts)

เป็นโรคผิวหนังชนิดหนึ่งที่พบได้บ่อยไม่จำกัดเพศ และอายุ แม้ว่าจะไม่ได้อันตรายมากนัก แต่ต้องได้รับการรักษาที่ถูกต้อง มิฉะนั้นอาจเป็นแผลติดเชื้อที่หนักกว่าเดิม รักษายากกว่าเดิมได้

โรคหูด (Warts) คืออะไร

หูด (Warts) เป็นโรคผิวหนังชนิดหนึ่ง เกิดจากเชื้อฮิวแมน แปปิโลมาไวรัส (Human papillomavirus) หรือเอชพีวี (HPV) โดยเชื้อไวรัสชนิดนี้จะกระตุ้นให้เซลล์ผิวหนังเกิดการหนาตัวหรือแข็งตัวขึ้น  จนเป็นเนื้องอกชนิดไม่ร้ายของผิวหนัง ซึ่งก็มีอยู่ด้วยกันหลายชนิด อาจมีขนาดแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่เป็น หูดอาจจะขึ้นเพียงเดี่ยว ๆ หรือขึ้นหลายตุ่มก็ได้ โดยมักจะขึ้นที่มือ เท้า ข้อศอก ข้อเข่า ใบหน้า ฝ่ามือ ฝ่าเท้า หรืออาจขึ้นตามผิวหนังส่วนอื่น ๆ รวมทั้งที่อวัยวะเพศก็ได้ 

โดยโรคนี้เมื่อเป็นแล้วก็ไม่มีอันตรายแต่อย่างใด อาจจะทำให้ดูน่าเกลียดน่ารำคาญหรือทำให้มีอาการปวดได้เป็นบางครั้ง ส่วนมากแม้จะไม่ได้รับการรักษาก็มักจะยุบหายไปเองตามธรรมชาติภายหลังที่เป็นอยู่หลายเดือน แต่บางรายอาจเป็นอยู่แรมปีกว่าจะยุบหายไป และเมื่อหายแล้วก็อาจกกลับมาเป็นใหม่ได้อีก

ระยะฟักตัวของโรค

หลังจากรับเชื้อมาจนเกิดอาการมักจะใช้เวลาประมาณ 2-8 เดือน

สาเหตุการเกิดโรคหูด

โรคหูดเกิดจากการติดเชื้อไวรัสฮิวแมน แปปิโลมา ไวรัส  หรือ เอชพีวี (Human Papilloma Virus – HPV) ซึ่งมีมากกว่า 100 ชนิดย่อย โดยแต่ละเชื้อชนิดย่อยก็ทำให้เกิดหูดในตำแหน่งต่าง ๆ และมีหน้าตาของหูดแตกต่างกันไป เช่น เอชพีวีสายพันธุ์ย่อย 1 จะก่อให้เกิดหูดที่ฝ่ามือและฝ่าเท้า ส่วนเอชพีวีสายพันธุ์ย่อย 6 จะก่อให้เกิดหูดที่อวัยวะเพศภายนอก เป็นต้น

โดยส่วนใหญ่แล้วไม่ได้อันตราย โดยทั่วไปหูดจะเกิดขึ้นบนมือหรือเท้าของผู้ป่วย แต่เชื้อไวรัส HPV บางสายพันธุ์ที่ทำให้เกิดหูดบริเวณอวัยวะเพศหญิง ซึ่งอาจทำให้เกิดมะเร็งปากมดลูก และเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ หูดสามารถเกิดได้หลายที่ เช่น หูดที่นิ้วมือ หูดที่เท้า หูดที่มือ หูดที่นิ้ว หูดที่ลิ้น หูดที่หน้า หูดที่อวัยวะเพศ หูดในปาก หูดที่คอ 

หูดเป็นโรคติดต่อที่สามารถติดต่อได้จากการสัมผัสจากคนที่เป็นหูดโดยตรง  แต่ผิวหนังที่มีบาดแผลหรือรอยถลอกจะติดเชื้อได้ง่ายกว่าผิวหนังที่ปกติ เพราะเชื้อไวรัสสามารถแทรกตัวลงไปได้ง่ายขึ้น ซึ่งจะใช้เวลาในการแบ่งตัวอยู่หลายเดือนจนกว่าจะเห็นเป็นก้อนหูด และเนื่องจากเชื้อหูดจะแบ่งตัวเฉพาะที่ผิวหนังและเยื่อบุเท่านั้น  จึงไม่ลุกลามเข้าสู่กระแสเลือดและไม่แพร่เชื้อเข้าสู่อวัยวะอื่น ๆ เชื้อชนิดนี้จึงไม่ติดต่อผ่านทางอื่น ๆ เช่น การไอ จามรดกัน หรืออย่างในกรณีที่มีหูดที่หน้า การมีเพศสัมพันธ์ก็ไม่ได้ทำให้ติดเชื้อหูดแล้วกลายเป็นหูดที่อวัยวะเพศหรือที่หน้า แต่ถ้าเอามือไปสัมผัสที่หน้า และมือก็ไปสัมผัสอวัยวะอื่น ๆ ด้วยก็อาจจะทำให้ติดเชื้อหูดจากหน้าได้

แต่สำหรับผู้ป่วยบางรายก็มีลักษณะเป็นพาหะโรค คือ ผิวหนังดูเป็นปกติทุกอย่าง ไม่มีตุ่มนูนให้เห็น แต่ที่ผิวหนังยังมีเชื้ออยู่ จึงยังสามารถแพร่เชื้อไปให้ผู้อื่นได้จากการสัมผัสผิวหนังส่วนที่มีเชื้อเช่นเดียวกัน  ซึ่งคนบางกลุ่มจะมีแนวโน้มที่จะติดหูดได้ง่ายกว่าปกติ รวมทั้งในผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันลดลงเช่นในผู้ป่วยมะเร็งที่ได้รับยากดภูมิคุ้มกัน เป็นต้น

โรคหูด-หูดข้าวสุก

หูด มีกี่ลักษณะ

ลักษณะของรอยโรคขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ของไวรัสและบริเวณที่เป็น สามารถแบ่งได้เป็น 5 กลุ่มดังนี้

1. หูดธรรมดา (Common Warts) เป็นหูดที่พบได้บ่อยที่สุด มีลักษณะของหูดชนิดนี้จะเป็นตุ่มนูนแข็ง ผิวค่อนข้างขรุขระ สีเหมือนผิวหนังหรือสีดำ อาจมีเม็ดเดียวหรือหลายเม็ด พบบ่อยบริเวณแขน เข่า นิ้วมือ นิ้วเท้า ข้อศอก ข้อเข่า ใบหน้า หนังศีรษะ เป็นต้น และอาจแพร่กระจายไปยังส่วนอื่น ๆ ของร่างกายได้อื่น ๆ

2. หูดชนิดแบน (Plane warts, Flat warts)  หูดชนิดนี้มีลักษณะมีลักษณะนูนขึ้นจากผิวเพียงเล็กน้อย เป็นเม็ดเล็ก ตุ่มแบน ผิวเรียบ สีเหมือนผิวหนัง  มักพบขึ้นบริเวณใบหน้า หน้าผาก หลังมือ และหน้าแข้ง มีขนาดตั้งแต่ 1-5 มิลลิเมตร อาจมีจำนวนตั้งแต่ 2-3 ตุ่มขึ้นไปจนถึงหลายร้อยตุ่ม และอาจมารวมกันเป็นกลุ่ม ๆ 

3. หูดฝ่ามือฝ่าเท้า (Palmoplantar Warts หรือ Plamar warts and Plantar warts) ลักษณะเป็นปื้นหนาแข็งฝังอยู่ในเนื้อ สีค่อนข้างเหลือง เมื่อยืนเดินลงน้ำหนักหรือกดทับจะเจ็บ พบได้ที่บริเวณฝ่ามือ ฝ่าเท้า  (ลักษณะคล้ายกับตาปลามาก แต่จะแยกกันได้ตรงที่หูดเมื่อใช้มีดเฉือนอาจมีเลือดไหลซิบ ๆ และอาจมีอาการเจ็บปวดได้ ส่วนตาปลาจะไม่มี) 

4. หูดที่อวัยวะเพศ หรือ หูดหงอนไก่ (Genital Warts, Condyloma Acuminatum)  ลักษณะเป็นตุ่มนูนสูงผิวขรุขระคล้ายหูดทั่วไป คล้ายหงอนไก่ พบบริเวณอวัยวะเพศ ทวารหนัก และขาหนีบ มักติดต่อจากการมีเพศสัมพันธ์เป็นหลัก 

5. หูดที่เป็นติ่งเนื้อแข็งยื่นจากผิวหนัง ลักษณะเป็นตุ่มขรุขระแต่ยาวคล้ายนิ้วมือเล็กๆ มักพบบริเวณใบหน้า และลำคอ

6. หูดข้าวสุก (Molluscum contagiosum) เกิดเป็นหูดเล็ก ๆ คล้ายสิวอยู่บริเวณผิวหนังชั้นนอก หูดข้าวสุกพบได้ตั้งแต่ทารก เด็ก ผู้ใหญ่ และผู้สูงอายุ บางครั้งเกิดใกล้บริเวณอวัยวะเพศภายนอกทั้งชายและหญิง 

7. หูดคนตัดเนื้อ (Butcher’s warts)ป็นหูดที่เกิดจากการติดต่อจากคนสู่คน โดยมีเนื้อเป็นทางผ่าน จึงมักพบได้ในผู้ที่มีอาชีพแล่เนื้อดิบ ลักษณะของหูดจะเหมือนกับหูดทั่วไป แต่จะมีขนาดใหญ่กว่าและมีผิวขรุขระมากกว่า โดยมักจะพบที่มือเป็นส่วนใหญ่

8. หูดที่เป็นติ่ง (Filiform warts) หูดชนิดนี้จะมีลักษณะเป็นติ่งเนื้อเล็ก ๆ มักขึ้นที่หนังตา ใบหน้า หรือริมฝีปาก

9. หูดเยื่อบุ เป็นหูดที่มีลักษณะเป็นตุ่มนูน ผิวขรุขระคล้ายหูดทั่วไป มักพบได้ในช่องปาก ซึ่งเกิดจากการร่วมเพศโดยใช้ปาก และอาจพบได้ในเด็กที่คลอดทางช่องคลอดจากมารดาที่ติดเชื้อหูดบริเวณอวัยวะเพศ โดยได้รับเชื้อจากการกลืนหรือสำลักในขณะการคลอด นอกจากนี้ยังอาจพบหูดชนิดนี้ที่เยื่อบุตาอีกด้วย

โรคหูดเกิดที่ไหนได้อีกบ้าง

หูดเป็นโรคผิวหนังที่พบบ่อยมักจะเติบโตตามอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกาย ได้แก่ พบที่นิ้วมือ หูดสามารถเกิดได้หลายที่ เช่น หูดที่นิ้วมือ หูดที่เท้า หูดที่มือ หูดที่นิ้ว หูดที่ลิ้น หูดที่หน้า หูดที่อวัยวะเพศ หูดในปาก หูดที่คอ

อาการของโรคหูด

  • มีติ่งนูนยื่นขึ้นมาบนผิวหนังขนาดหูดประมาณ 10 มิลลิเมตร
  • มีผิวหยาบ หรือผิวเรียบ
  • เกิดขึ้นทั้งเป็นตุ่มเดี่ยว และเป็นกลุ่ม
  • มีอาการคัน

เมื่อใด ควรไปพบแพทย์

  • เมื่อไม่แน่ใจว่าลักษณะที่เกิดขึ้นเป็นตุ่ม และที่เป็นคือหูดหรือไม่
  • เมื่ออยากจะรักษาหูดเองที่บ้าน แต่ไม่แน่ใจว่าควรจะรักษาด้วยวิธีไหน
  • เมื่อรักษาหูดด้วยตัวเองที่บ้านแล้วไม่หาย ควรให้แพทย์ตรวจเพื่อยืนยันว่าตุ่มนั้นเป็นหูด ไม่ใช่มะเร็งหรือโรคผิวหนังชนิดอื่น
  • เมื่อมีเลือดออกจากหูด และหูดขยายใหญ่ขึ้นอย่างรวดเร็ว
  • เมื่อเข้ารับการรักษาหูดและมีอาการผิวหนังอักเสบติดเชื้อ เช่น ผื่นแดง มีความรู้สึกปวด มีหนองบริเวณที่รักษา ในผู้ป่วยบางคนผื่นแดงและอาการปวดเป็นเรื่องปกติหลังการรักษา ดังนั้นจึงควรปรึกษาแพทย์ก่อนเพื่อทำความเข้าใจถึงผลข้างเคียงของการรักษา

การวินิจฉัยโรคหูด

  • แพทย์สามารถวินิจฉัยโรคหูดได้จากการดูอาการของผู้ป่วย จากการตรวจลักษณะของก้อนเนื้อ 
  • อาจต้องตัดชิ้นเนื้อเพื่อส่งตรวจทางพยาธิวิทยา
โรคหูด-ใช้ไนโตรเจนเหลว

การรักษาโรคหูด

แนวทางในการรักษาโรคหูดในปัจจุบันจะแบ่งออกเป็นการรักษาด้วยยาใช้ภายนอก การผ่าตัดซึ่งก็มีอยู่หลายวิธี และการปล่อยไว้ไม่รักษา เพราะส่วนใหญ่หูดจะสามารถยุบหายไปได้เอง ซึ่งการรักษานี้จะไม่ใช่การรักษาที่ต้นเหตุหรือเป็นการฆ่าเชื้อไวรัสที่เป็นต้นตอแต่อย่างใด เพราะในปัจจุบันยังไม่มีตัวยาที่สามารถฆ่าเชื้อไวรัสชนิดนี้ได้ แพทย์จึงเน้นการรักษาไปที่ปลายเหตุด้วยการทำลายเนื้อเยื่อบริเวณที่เป็นรอยโรค จึงยังอาจทำให้มีเชื้อไวรัสหลงเหลืออยู่ในบริเวณรอบ ๆ ที่ผิวหนังที่เห็นเป็นปกติ ดังนั้นแม้จะเอาหูดและเนื้อเยื่อผิวหนังโดยรอบออกไปแล้ว แต่ก็ไม่อาจรับประกันได้ว่าเชื้อหูดจะหมดไป ทำให้มีโอกาสที่โรคนี้จะกลับมาเป็นซ้ำได้อีก

ซึ่งโดยทั่วไปการรักษาหูดก็มีอยู่ด้วยกันหลายวิธี ได้แก่

1. การทายา ยาที่ใช้จะเป็นยาที่มีส่วนผสมของกรดซาลิซิลิก กรดแลคติก กรดไตรคลออะซิติก แต่การรักษาหูดด้วยการทายาจะต้องใช้เวลานานหลายสัปดาห์ หรือบางรายหลายเดือนกว่าจะหาย ควรมาพบแพทย์เพื่อรับการรักษา ไม่ควรซื้อยามาทาเอง

2. การจี้ด้วยความเย็น โดยใช้ไนโตรเจนเหลว (Cryotherapy)  วิธีนี้ใช้ได้ผลดีกับหูดขนาดไม่ใหญ่มาก โดยระหว่างจี้ผู้ป่วยจะรู้สึกเจ็บหรือแสบ ต่อมาบริเวณที่จี้อาจจะพองเป็นตุ่มน้ำ และใหญ่ขึ้นเป็นถุงน้ำ หลังจากนั้นจะค่อยๆ แห้งลงและตกสะเก็ด และจะหายภายใน 1-3 สัปดาห์ ซึ่งอาจต้องจี้ซ้ำหลายครั้งจนกว่าจะหายขาด

3. การจี้ด้วยไฟฟ้า เป็นการทำลายตุ่มหูดด้วยความร้อน วิธีนี้ได้ผลค่อนข้างดี แต่อาจทำให้มีแผลเป็นได้

4. การรักษาด้วยเลเซอร์ วิธีนี้จะใช้เลเซอร์จี้ที่ตัวหูด ซึ่งได้ผลดีแต่มีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง

5. การผ่าตัด คือการผ่าตัดเอาก้อนหูดออก ใช้สำหรับหูดที่รักษาด้วยวิธีอื่นไม่ได้ผล

6. การทายาเพื่อกระตุ้นภูมิ (DCP) หรือ ภูมิคุ้มกันบำบัด (Immunotherapy)   วิธีทำคือ การฉีดสารบางชนิดไปยังบริเวณหูด เพื่อกระตุ้นภูมิของร่างกายให้มาทำลายหูด จะใช้ในกรณีที่รักษาด้วยวิธีการอื่นไม่ได้ผล หรือหูดมีปริมาณมาก การรักษาใช้เวลาหลายเดือนและต้องมาทายาที่โรงพยาบาลทุกสัปดาห์

การป้องกันโรคหูด

  • หากเป็นหูด ควรรีบพบแพทย์เพื่อรักษาและป้องกันการแพร่กระจายเชื้อไปบริเวณอื่นของร่างกาย และป้องกันการแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่นได้
  • หูดอาจเกิดขึ้นซ้ำได้อีก โดยมีปัจจัยโดยตรงมาจากภูมิคุ้มกันในร่างกาย ดังนั้นจึงควรดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอด้วยการออกกำลังกายเป็นประจำ และรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบทั้งห้าหมู่
  • เพื่อให้ร่างกายมีภูมิต้านทานที่แข็งแรง
  • หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์กับบุคคลที่เป็นหูดหงอนไก่ หรือหลีกเลี่ยงการสัมผัสหรืออยู่ใกล้ชิดกับคนที่เป็นหูด ส่วนผู้ที่อยู่ในบ้านเดียวกันกับผู้ที่เป็นหูด ควรแยกของใช้ส่วนตัว เช่น ผ้าขนหนู เสื้อผ้า รองเท้า ถุงเท้า ถุงมือ กรรไกรตัดเล็บ มีดโกน ฯลฯ
  • หลีกเลี่ยงการอาบน้ำเท้าเปล่าในสระว่ายน้ำสาธารณะ เพื่อป้องกันการติดเชื้อหูดที่เท้า โดยการสวมใส่รองเท้าในขณะอาบน้ำหรือรองเท้าแตะแบบหนีบอยู่เสมอ
  • ห้ามใช้เครื่องมือที่ใช้ตัดหรือเฉือนหูดร่วมกับผู้อื่น หรือพยายามหลีกเลี่ยงการทำเล็บในร้านที่ไม่สะอาด หรือตัดผมแบบที่มีการโกนขนหรือหนวดที่ต้องใช้ร่วมกัน
  • ล้างมือให้สะอาดเป็นประจำ โดยเฉพาะหากมีการสัมผัสกับคนที่เป็นหูด
  • หลีกเลี่ยงการถูกหูดที่ตำแหน่งใหม่
  • ควรเช็ดมือ และเท้าให้แห้ง
  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสหูดกับผู้ที่เป็นหูดโดยตรง
  • ฉีดวัคซีนป้องกันการติดเชื้อ HPV ซึ่งสามารถป้องกันการติดเชื้อได้บางชนิด ปัจจุบันได้รับการรับรองให้ใช้ได้ทั้งในผู้หญิงและผู้ชาย

การดูแลรักษาตัวเองระหว่างเป็นโรคหูด

  • อย่าพยายามแกะ เกา หรือสัมผัสบริเวณที่เป็นหูด รวมไปถึงการกัดเล็บ เพราะอาจจะทำให้ผิวหนังบริเวณอื่น ๆ เกิดการติดเชื้อแล้วกลายเป็นหูดเพิ่มขึ้นใหม่ได้
  • ไม่ใช้วิธีการรักษาด้วยตัวเองที่กล่าวไปข้างต้นบนผิวที่อาจเกิดการระคายเคือง หรือบริเวณใด ๆ ที่มีการติดเชื้อ เป็นผื่นแดง บนไฝหรือปาน บนหูดที่มีขนโผล่ขึ้นมา รวมถึงหูดบริเวณอวัยวะเพศ ใบหน้า เยื่อบุผิว เช่น ในปาก จมูก และช่องทวารหนัก
  • ควรล้างผิวบริเวณที่เป็นหูดให้บ่อยที่สุด และพยายามดูแลหูดให้แห้งอยู่เสมอ เพราะหูดที่เปียกจะมีแนวโน้มในการแพร่เชื้อได้ง่ายขึ้น (การเช็ดให้แห้งจะช่วยลดโอกาสการแพร่เชื้อไปยังผู้อื่นได้)
  • ก่อนใช้ยาทาทุกครั้งควรปรึกษาแพทย์ก่อนเสมอ

ผลข้างเคียงของโรคหูด

ถ้าไม่ได้รับการรักษาประมาณ 2 ใน 3 หูดจะหายไปได้เองภายใน 2 ปี โดยไม่ทิ้งรอยแผลเป็น แต่ในผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง มักจะไม่หายเอง การรักษาก็ไม่ค่อยได้ผล มีอัตราการเกิดเป็นซ้ำได้สูง และหูดอาจกลายเป็นมะเร็งได้ง่ายกว่าคนทั่วไป

หูดบางชนิดย่อยอาจเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งได้ เช่น หูดจากเอชพีวีสายพันธุ์ย่อย 6, 11, 16, 18, 31, 35 ที่มักเป็นสาเหตุของการเกิดหูดในอวัยวะเพศ ซึ่งการติดเชื้อหูดในบริเวณนี้จะมีความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งผิวของอวัยวะเพศภายนอก มะเร็งช่องคลอด และมะเร็งปากมดลูก อย่างไรก็ตามหูดจากการติดเชื้อเอชพีวีส่วนมากหรือหลายชนิดย่อย จะไม่เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งแต่อย่างใด

บทความที่เกี่ยวข้อง

โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เราป้องกันได้

เอชไอวี (HIV) ติดต่อกันได้อย่างไร?

อ้างอิงข้อมูลจากเว็บไซต์ :

  • หูด เรื่องเล็กแต่เจ็บเหลือใจ (Warts) https://www.siphhospital.com/th/news/article/share/496
  • หูด https://www.si.mahidol.ac.th/sidoctor/e-pl/articledetail.asp?id=34
  • หูด อาการ สาเหตุ และการรักษาโรคหูด 40 วิธี !! (Warts) https://medthai.com/หูด/
  • เป็นหูดหายได้ ถ้ารักษาอย่างถูกต้อง https://www.phukethospital.com/th/healthy-articles/warts-disappear-if-treated-properly/
  • หูด เกิดจากสาเหตุอะไร และดูแลรักษาอย่างไร https://amprohealth.com/symptoms/warts/