โรคไวรัสตับอักเสบ เป็นโรคที่พบได้บ่อยซึ่งโดยทั่วไปผู้ป่วยมักจะไม่ทราบมาก่อนว่าตนเองมีเชื้อไวรัสตับอักเสบนี้อยู่ในร่างกาย เนื่องจากอาการของโรคไม่รุนแรง ไม่ชัดเจน ต่อเมื่อมีอาการตับอักเสบมากขึ้น ถ้าปล่อยไว้โดนไม่ทำการรักษาก็จะกลายเป็นตับแข็ง และในที่สุดก็จะกลายเป็นมะเร็งตับได้ โดยวิธีการที่เราจะทราบว่าติดเชื้อไวรัสตับอักเสบหรือไม่ ก็ต่อเมื่อไปตรวจร่างกายแล้วพบค่าการอักเสบของตับผิดปกติ และตรวจเลือดแล้วพบการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ
ไวรัสตับอักเสบซี คืออะไร
ไวรัสตับอักเสบซี คือ โรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสชนิดซี (HCV) ทำให้เกิดการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีแบบเฉียบพลันเป็นภาวะเจ็บป่วยระยะสั้นที่เกิดขึ้นประมาณ 6 เดือนหลังจากที่ผู้นั้นสัมผัสเชื้อไวรัสตับอักเสบซีครั้งแรก โดยปกติการติดเชื้อแบบเฉียบพลันจะไม่กลายเป็นการติดเชื้อแบบเรื้อรังเสมอไป และการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีชนิดเรื้อรังเป็นภาวะเจ็บป่วยระยะยาวซึ่งเกิดขึ้นเมื่อยังคงมีเชื้อไวรัสอยู่ในร่างกายของผู้นั้น ภาวะการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีสามารถคงอยู่ได้ตลอดชีวิตและนำไปสู่สภาวะที่เป็นอันตรายต่อตับรวมถึงภาวะตับแข็งหรือมะเร็งตับในที่สุด ซึ่งสามารถติดต่อกันทางเลือดหรือเพศสัมพันธ์คล้ายกับไวรัสตับอักเสบบี แต่ ไม่สามารถติดต่อกันได้ทางการให้นมบุตร การจามหรือไอรดกัน การรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำด้วยกัน และการใช้ถ้วยชามร่วมกัน
ชนิดของไวรัสตับอักเสบซี
ไวรัสตับอักเสบซีแบ่งออกเป็น 6 ชนิด ในประเทศไทยพบชนิดที่ 1 และ 3 พอๆ กัน คือชนิดละ 40% รองลงไปจะเป็นชนิดที่ 2 ส่วนชนิดที่ 4, 5 และ 6 นั้นพบน้อย ผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับการตรวจว่าไวรัสตับอักเสบซีที่เป็นนั้นเป็นชนิดอะไร เพื่อเป็นแนวทางในการรักษาโรคต่อไป เนื่องจากการรักษาไวรัสแต่ละชนิดมีความยากง่ายแตกต่างกัน
ไวรัสตับอักเสบซี ติดต่อทางไหน
- มีคู่นอนหลายคน
- การสักหรือเจาะตามร่างกาย
- ผู้ที่มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ป้องกัน
- การติดต่อจากมารดาไปสู่ทารก พบได้น้อยมาก
- การใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน โดยเฉพาะผู้ที่ติดยาเสพติด
- การใช้แปรงสีฟัน กรรไกร หรือที่ตัดเล็บร่วมกับผู้ที่มีเชื้อไวรัสตับอักเสบซี
อย่างไรก็ตามเชื้อไวรัสตับอักเสบซี ไม่ติดต่อทางการรับประทานอาหารร่วมกัน การใช้จามชามช้อนส้อมด้วยกัน การให้นมบุตร การกอด หรือการจูบ ร่วมถึงไม่ติดต่อผ่านการสัมผัส หรือไอ จาม รดกัน
อาการของโรคไวรัสตับอักเสบซี
- โรคตับอักเสบจากเชื้อไวรัสจะมีอาการคล้ายๆ กัน คือ ดีซ่าน ตัวเหลือง ตาเหลือง ปัสสาวะสีเข้ม เบื่ออาหาร น้ำหนักลด อ่อนเพลีย ไม่มีแรง บวม มีน้ำในช่องท้อง ปวดชายโครงขวา ปวดกล้ามเนื้อและปวดข้อ ตับม้ามโต
- การที่จะแยกว่าเกิดจากเชื้อไวรัสชนิดใดนั้น ต้องใช้วิธีการตรวจทางห้องปฏิบัติการจึงจะทราบ แต่ที่น่าสังเกตคือโรคตับอักเสบจากไวรัสชนิดอื่นๆ มักจะเป็นแบบเฉียบพลัน และจะหายได้ภายในเวลา 6 เดือน ถ้าหากมีอาการของโรคตับอักเสบเรื้อรังก็มักจะเกิดจากไวรัสตับอักเสบชนิดบีหรือซี
- โดยทั่วไปผู้ที่ได้รับเชื้อไวรัสตับอักเสบซี ส่วนใหญ่หลังติดเชื้อแล้วภายในเวลา 10 ปีแรกจะไม่มีอาการอะไรเลย ยกเว้นส่วนน้อยที่อาจมีอาการของโรคแบบเฉียบพลัน ต่อเมื่อย่างเข้าสู่ 10 ปีที่ 2 ก็จะเริ่มมีอาการของตับอักเสบเรื้อรังเกิดขึ้น และเมื่อ 30 ปีผ่านไป ตับจะถูกทำลายมากขึ้น ก็จะเริ่มมีอาการของตับแข็งปรากฏให้เห็น
- ผู้ป่วยจำนวนหนึ่งก็จะเป็นมะเร็งตับ เรียกว่ากว่าจะแสดงอาการก็ใช้เวลาหลายสิบปี โดยที่โรคจะดำเนินไปอย่างช้าๆ ผู้ป่วยจะไม่รู้ตัวเลยว่ามีโรคอันตรายซ่อนแฝงอยู่ถ้าไม่ได้ตรวจเลือด และไม่ได้รับการรักษาก็จะกลายเป็นโรคตับแข็ง มะเร็งตับ และเสียชีวิตในที่สุด
กลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงติดเชื้อโรคไวรัสตับอักเสบซี
- ผู้ที่เคยได้รับเลือดก่อนปี พ.ศ.2535 เนื่องจากยังไม่มีการตรวจหาเชื้อไวรัสตับอักเสบซี
- ผู้ที่ได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะก่อนปี พ.ศ.2535
- ผู้ที่มีการฉีดสารเสพติดเข้าเส้นเลือด ถึงแม้ว่าทดลองใช้เพียงครั้งเดียว
- ผู้ป่วยโรคเอดส์
- ผู้ที่ฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม
- ผู้ที่มีผลเลือดการทำงานของตับพบการอักเสบ
- ผู้ที่ติดยาเสพติดใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน
- ผู้ที่ได้รับเชื้อไวรัสตับอักเสบซีจากการทำฟัน
- ผู้ที่สำส่อนทางเพศหรือรักร่วมเพศ
- ผู้ที่มีการสักตามตัว การใช้เข็มที่ติดเชื้อโรคสักผิวหนัง เจาะหู ฝังเข็ม
- ผู้ที่มีประวัติมีเพศสัมพันธ์กับผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบซีเรื้อรัง
- บุคลากรทางการแพทย์ที่ถูกเข็มตำจากผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบซีเรื้อรัง
- การใช้ของส่วนตัวที่เปื้อนเลือดร่วมกัน เช่น มีดโกน หรือกรรไกรตัดเล็บ
- ทารกที่เกิดจากแม่ที่มีเชื้อไวรัสตับอักเสบซี (ติดได้แต่พบน้อย)
ภาวะที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซี
- ตับอักเสบเฉียบพลัน หลังจากไวรัสตับอักเสบซีเข้าสู่ร่างกายแล้วจะทำให้เกิดการอักเสบของตับ แต่ส่วนมากผู้ป่วยจะไม่มีอาการ ของผู้ป่วยจะมีอาการตัวเหลือง ตาเหลือง ที่เรียกว่าดีซ่าน ดังนั้นผู้ป่วยส่วนใหญ่จะไม่รู้ว่าตัวเองเกิดการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีแบบเฉียบพลัน
- ตับอักเสบเรื้อรัง จะเกิดภาวะตับอักเสบเรื้อรัง ซึ่งในระยะแรกผู้ป่วยมักจะไม่มีอาการ จนเมื่อตับถูกทำลายไปมากพอควรหรือมีการอักเสบของตับมาก ผู้ป่วยจะมีอาการอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร
- ตับแข็ง (Cirrhosis) ผู้ป่วยตับอักเสบเรื้อรังจากไวรัสตับอักเสบซีนั้น ตับจะมีอาการอักเสบและถูกทำลายไปเรื่อยๆ จนในที่สุดจะกลายเป็นตับแข็ง ซึ่งถ้าเป็นมากแล้ว ผู้ป่วยจะมีอาการอ่อนเพลียมาก ดีซ่าน ท้องมาน และเกิดตับวายได้ในที่สุด
- มะเร็งตับ (Liver Cancer) ผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบซีเรื้อรังจะมีโอกาสเกิดมะเร็งตับได้มากกว่าคนปกติ และมีรายงานว่าถ้าผู้ป่วยได้รับการรักษาไวรัสตับอักเสบซีเรื้อรังอย่างถูกต้อง ก็สามารถลดโอกาสเกิดมะเร็งตับลงได้
- ตับวาย (Liver Failure) หากเป็นตับแข็งที่มีความรุนแรงมากแล้วอาจทำให้ตับหยุดการทำงานได้
วิธีป้องกันการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซี
- ใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งหากมีเพศสัมพันธ์
- อย่าใช้เข็มฉีดยาร่วมกับผู้อื่น โดยเฉพาะผู้ที่ติดยาเสพติดที่ใช้ฉีดเข้าเส้น เพราะมีความเสี่ยงสูงมากที่จะได้รับเชื้อไวรัสตับอักเสบ ซี รวมไปถึงโรคร้ายอื่น ๆ ที่ร้ายแรงกว่า
- สวมถุงมือถ้าต้องสัมผัสเลือด
- ห้ามใช้มีดโกนหนวด แปรงสีฟันร่วมกัน
- ให้ระมัดระวังในการเจาะหูหรือสักตามร่างกาย หากเลือกแล้วที่จะทำ ก็ควรเลือกร้านที่ไว้ใจได้ มีการทำความสะอาดและฆ่าเชื้ออุปกรณ์อย่างถูกหลักอนามัย โดยเฉพาะเข็มที่ใช้ต้องผ่านการฆ่าเชื้อแล้ว
การรักษาโรคไวรัสตับอักเสบซี
- ผู้ป่วยที่มีเชื้อไวรัสตับอักเสบซีบางรายเมื่อตรวจเลือดพบค่าการอักเสบของตับ แพทย์จะนัดตรวจเลือดอีกครั้ง 6-12 เดือน
- เด็กที่เกิดจากแม่ที่มีเชื้อไวรัสตับอักเสบซีไม่ควรเจาะเลือดก่อนอายุ 12 เดือนเนื่องจากเชื้อจากแม่ยังไม่หมด แนะนำให้ตรวจ anti-HCV เมื่อเด็กมีอายุ 18 เดือนขึ้นไป
- ทั้งนี้การรักษาผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบซี แพทย์จะพิจารณาตามภาวะของโรคและโรคร่วมต่างๆ ที่ผู้ป่วยเป็น