รอบรู้เรื่องถุงยางอนามัย

รอบรู้เรื่องถุงยางอนามัย
รอบรู้เรื่องถุงยางอนามัย

ถุงยางอนามัยมีความสำคัญในการป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และการคุมกำเนิด ในปัจจุบัน มีถุงยางอนามัยให้เลือกใช้ ทั้งแบบสำหรับสตรีและแบบสำหรับบุรุษ 

ถุงยางอนามัยคือ?

ถุงยางอนามัย (Condom) มาจากภาษาละติน แปลว่า ภาชนะที่รองรับ ทำด้วยวัสดุจากยางพารา หรือโพลียูรีเทน โดยฝ่ายชายเป็นฝ่ายใช้สวมครอบอวัยวะเพศของตนเอง  และเป็นอุปกรณ์ที่นิยมใช้เป็นอันดับต้นๆ สำหรับช่วยป้องกันการคุมกำเนิด และช่วยป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ 

ซึ่งปัจจุบันมีการผลิต และพัฒนาถุงยางอนามัยออกสู่ตลาดจำนวนมาก ในหลากหลายแบบให้เลือก ทั้งที่มีสีสัน ผิวเรียบ ผิวไม่เรียบ มีกลิ่น และรสผลไม้ รวมทั้งมีรูปทรงที่แปลกตามากขึ้น ซึ่งแต่ละแบบเน้นวัตถุประสงค์ในการใช้งานที่แตกต่างกันไป

ทำไมจึงต้องใส่ถุงยางอนามัยเมื่อมีเพศสัมพันธ์

เพราะ ถุงยางอนามัยจัดเป็นเครื่องมือแพทย์ อย่างหนึ่งที่ใช้เพื่อการคุมกำเนิด หรือเพื่อป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่น ซิฟิลิส หนองใน หูดหงอนไก่ เชื้อเอชไอวี โรคเอดส์ ไวรัสตับอักเสบบีและซี เป็นต้น  ซึ่งสามารถป้องกันได้ด้วยการสวมถุงยางอนามัย ระหว่างมีเพศสัมพันธ์ซึ่งสามารถป้องกันได้มากถึงร้อยละ 98%

แนะการใช้ถุงยางอนามัย 4 ขั้นตอน เลือก เก็บ ใช้ ทิ้ง ที่เราทุกคนสามารถทำได้ด้วยตัวเอง ดังนี้

  • เลือก ให้ถูกไซส์ ถุงยางอนามัยมีหลายขนาด ตั้งแต่ ขนาด 49 มิลลิเมตร ขนาด 52 มิลลิเมตร ขนาด 54 มิลลิเมตร และ ขนาด 56 มิลลิเมตร รวมถึง กลิ่น สี มีหลายแบบให้เลือก ดังนั้น ควรเลือกใช้ขนาดที่เหมาะสม หากเลือกขนาดเล็กหรือใหญ่ไป จะทำให้ถุงยางอนามัยฉีกขาด หรือหลุดได้ง่าย  นอกจากนี้ต้องตรวจดูวันผลิต หรือวันหมดอายุก่อนทุกครั้ง และได้มาตรฐาน อย.
  • วิธีวัดขนาดง่ายๆ ให้เริ่มจากวัดเส้นรอบวงของอวัยวะเพศเมื่อแข็งตัว แล้วหารด้วย 2 จะได้ขนาดที่พอดี เช่น เส้นรอบวง 10.6 เซนติเมตร ให้หารด้วย 2 ผลลัพธ์ที่ออกมาเท่ากับ 5.3 เซนติเมตร ถุงยางอนามัยที่สามารถใช้ได้ก็คือขนาด 52 หรือ 54 มิลลิเมตร
  • เก็บ ให้ถูกวิธี การเก็บถุงยางอนามัย ถือเป็นขั้นตอนสำคัญเช่นกัน คือ ไม่ควรเก็บถุงยางอนามัยในที่มีความชื้นสูง หรือในที่ร้อน เพราะความร้อนจะทำให้ถุงยางอนามัยเสื่อมคุณภาพ ไม่ควรเก็บไว้ในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสม เช่น กระเป๋าสตางค์ หรือกระเป๋ากางเกงด้านหลัง เพราะจะทำให้ฉีกขาดได้ง่าย ซึ่งเกิดจากการนั่งทับ ทางที่ดีควรเก็บถุงยางอนามัยไว้ในจุดที่สามารถหยิบใช้งานได้ง่าย และสะดวก
  • ใช้ ให้ถูกวิธี เมื่อมีเพศสัมพันธ์ ทุกครั้ง ทุกคน ทุกช่องทาง อันดับแรกให้ฉีกซอง แบบระมัดระวังอย่าให้เล็บสะกิดถุงยางอนามัย เพราะอาจจะทำให้ฉีกขาดได้ จากนั้นให้บีบปลายถุงยางอนามัยเพื่อไล่ลมก่อนใส่เสมอ หากมีฟองอากาศที่ปลายถุงยางอนามัยจะทำให้ฉีดขาดระหว่างมีเพศสัมพันธ์ได้ สุดท้ายให้สวมถุงยางอนามัยขณะที่อวัยวะเพศแข็งตัว โดยบีบปลายถุงยางอนามัยขณะสวมแล้วรูดให้สุดโคน         
  • ทิ้ง ให้ปลอดภัย ขั้นตอนสุดท้ายแต่สำคัญที่สุด เมื่อเสร็จกิจให้รีบถอดถุงยางอนามัยออกตอนที่อวัยวะเพศยังแข็งตัวอยู่ โดยใช้นิ้วสอดเข้าในขอบถุงยางอนามัย หรือใช้กระดาษทิชชู่ห่อแล้วรูดออก จากนั้นทิ้งลง ถังขยะให้มิดชิด ไม่ควรทิ้งลงชักโครก หรือในแม่น้ำ ลำคลอง เด็ดขาด

ชนิดของถุงยางอนามัย

ถุงยางอนามัยที่มีการผลิตจำหน่ายมี 3 ชนิด โดยแบ่งตามวัสดุที่ใช้ ได้แก่

1) ชนิดที่ทำจากลำไส้สัตว์ (Skin condom) วัสดุที่ใช้ผลิตเป็นส่วนของลำไส้ส่วนล่างของแกะ ที่เรียกว่า caecum มีความหนา 0.15 มิลลิเมตร มีขนาดความกว้างตั้งแต่ 62 – 80 มิลลิเมตร สวมใส่ไม่รัดรูปแต่ไม่สามารถยืดตัวได้ ให้ความรู้สึกสัมผัสที่ดีในขณะมีเพศสัมพันธ์ เพราะเชื่อว่าวัสดุจากลำไส้สัตว์ สามารถสื่อผ่านความอบอุ่นของร่างกายสู่กันได้ แต่ในประเทศไทยไม่มีการผลิตจำหน่าย เนื่องจากมีราคาสูง

2) ชนิดที่ทำจากน้ำยางธรรมชาติ (rubber condom or latex condom) ถุงยางอนามัยที่ทำจากยางธรรมชาติมีราคาถูก มีความบางและยืดหยุ่นได้ดีกว่าแบบทำจากลำไส้สัตว์ ขนาดความกว้างน้อยกว่า เวลาสวมใส่ให้ความรู้สึกกระชับรัดแนบเนื้อ และสามารถใช้ได้ทั้ง เพื่อการคุมกำเนิด และป้องโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ 

ถุงยางชนิดนี้ไม่สามารถใช้ร่วมกับสารหล่อลื่นประเภทที่ผลิตจากน้ำมันปิโตรเลียม หรือน้ำมันหล่อลื่นผิวหนัง พวก Mineral oil ได้ เพราะจะทำให้โครงสร้างของน้ำยางเสื่อมลง ส่งผลต่อคุณภาพและการป้องกัน แต่ใช้ได้กับสารหล่อลื่นชนิดที่มีน้ำเป็นส่วนประกอบหลัก (water-based lubricant)

3) ชนิดที่ทำจาก Polyurethane หรือ Polyisoprene (ถุงยางพลาสติก) ปัจจุบันมีการนำวัสดุอื่นมาผลิตเป็นถุงยางอนามัยด้วย เช่น สาร Polyurethane ถุงยางชนิดนี้ให้ความรู้สึกที่ดี เหนียวกว่า ทนต่อการฉีกขาดกว่าแบบที่ทำจากน้ำยางธรรมชาติ เหมาะสำหรับผู้ที่กลัวแพ้ยางพารา สามารถใช้สารหล่อลื่นที่ผลิตจากน้ำมันปิโตรเลียม หรือน้ำมันหล่อลื่นผิวหนัง พวก Mineral oil ได้  และที่สำคัญคือสามารถทำให้บางได้ถึง 01 มิลลิเมตร ทำให้รู้สึกเสมือนไม่ได้ใส่อะไรเลย (feels like not wearing anything) แต่ราคาอาจสูงกว่าแบบน้ำยางพารา

การเลือกประเภทของถุงยาง

การเลือกซื้อถุงยางอนามัย ควรเลือกตามวิธีดังนี้

  • ควรอ่านฉลากก่อนซื้อทุกครั้ง เพราะการอ่านฉลากเพื่อให้ได้รู้ว่าสินค้าตัวนั้น ๆ ได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาหรือไม่ รวมถึงข้อมูลด้านอื่น ๆ เช่น วันหมดอายุ หรือ ต้องใช้ก่อนวันที่เท่าไหร่ เป็นต้น
  • การเลือกประเภทของถุงยาง สำหรับในประเทศไทยโดยทั่วไปเราจะสามารถพบเห็นขนาดของถุงยางอนามัยที่วางขายในขนาด 49 มม. 51 มม. และ 52 มม. ซึ่งการเลือกซื้อเพื่อมาใช้งานควรเลือกขนาดของถุงยางให้เหมาะสม เพื่อให้การป้องกันเกิดประสิทธิภาพสูงสุด
  • การบรรจุ และการจัดวางสินค้า ก่อนซื้อเราควรตรวจดูว่ากล่องที่บรรจุถุงยางอนามัยชำรุด หรือฉีกขาดบ้างหรือไม่ เพราะตัวสินค้าภายในอาจมีความชำรุด ซึ่งไม่ควรนำมาใช้งาน นอกจากนี้ตัวสินค้ายังต้องถูกเก็บรักษาให้พ้นจากแสงแดดอีกด้วย 
  • ในปัจจุบันมีการผลิตถุงยางในรูปแบบต่าง ๆ มากมายเพื่อให้เลือกใช้งาน แต่ยังมีอยู่หลายแบบที่ไม่ได้รับการยืนยันความปลอดภัยจากคณะกรรมการอาหารและยา เราจึงควรคำนึงถึงจุดนี้ให้มาก ๆ เพราะแทนที่จะได้รับความปลอดภัยจากการมีเพศสัมพันธ์อาจจะได้รับอันตรายแทนได้

ข้อดีของการใช้ถุงยางอนามัย

  • หาซื้อง่าย ไม่จำเป็นต้องมีใบสั่งแพทย์ ถุงยางอนามัย มีแจกจ่ายตามโรงพยาบาลและที่สาธารณะทั่วไปไม่มีผลข้างเคียงในการใช้คุมกำเนิดเหมือนการทานยาคุมกำเนิดของผู้หญิง
  • ช่วยป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เพราะน้ำอสุจิ เชื้อโรค หรือแบคทีเรียต่าง ๆ ไม่สามารถทะลุผ่าน ถุงยางอนามัย ได้ยกเว้น ถุงยางอนามัย ที่ผลิตมาจากลำไส้ของสัตว์เท่านั้น
  • สามารถมีเพศสัมพันธ์ในช่วงที่ฝ่ายหญิงมีประจำเดือน หรือที่เรียกกันว่าฝ่าไฟแดงได้ (แต่ไม่แนะนำ)
  • ป้องกันการเกิดมะเร็งปากมดลูกให้แก่ฝ่ายหญิง
  • ราคาถูกและปลอดภัยกว่าการคุมกำเนิดด้วยวิธีอื่นการสวมใส่ และใช้ถุงยางอนามัยอย่างถูกวิธีลดความเสี่ยงในการตั้งครรภ์ถึง 98%
  • มีหลายรูปทรง หลายกลิ่น หลายสี สามารถเพิ่มพูนความสุขระหว่างร่วมรักได้ง่าย

ข้อเสียของการใช้ถุงยางอนามัย

  • อาจเกิดอาการแพ้ คัน และผื่นแดงขึ้น มีอาการแพ้ได้ทั้งชายและหญิงแต่ไม่เป็นอันตรายแต่อย่างใด สามารถทานยาแก้แพ้หลังจากเสร็จสิ้นการมีเพศสัมพันธ์ได้ แต่ทางที่ดีควรเปลี่ยนถุงยางอนามัยเป็นชนิดที่ไม่เกิดอาการแก้ดีกว่า อย่างเช่น ถุงยางอนามัย ที่ผลิตมาจากโพลียูรีเทนราคาแพงไปสักนิดแต่ก็ดีกว่ามานั่งทานยาแก้แพ้อยู่เรื่อย ๆ
  • การสวมใส่ ถุงยางอนามัย ผิดวิธีหรือไม่ระวังมีโอกาสทำให้ลื่นหลุด หรือฉีกขาดทำให้การร่วมรักสะดุด ไม่ต่อเนื่อง ดูไม่เป็นธรรมชาติ ยิ่งมือใหม่ใส่ไม่ช่ำชองจะพาลหมดอารมณ์ทั้งฝ่ายชายและฝ่ายหญิง
  • เมื่อหลั่งน้ำอสุจิเรียบร้อยแล้ว ต้องรีบถอนออกมาถอด ถุงยางอนามัย ด้วยความระมัดระวัง การปล่อยแช่ทิ้งไว้ที่อวัยวะเพศหญิงอาจจะทำให้ถุงยางอนามัยหลุดออกคาช่องคลอดได้

ข้อควรระวังในการใช้ถุงยางอนามัย

  • ระยะเวลาในการใช้งาน การใช้ 1 ชิ้นจะต้องใช้ไม่เกิน 30 นาที เพราะความสมบูรณ์ของตัวถุงยางอนามัยอาจจะเสื่อมสภาพลง และต้องใช้แล้วทิ้งเท่านั้น ห้ามนำกลับมาใช้ใหม่โดยเด็ดขาด
  • ระวังสารหล่อลื่น การใช้สารหล่อลื่นบางชนิดอาจมีผลกับตัวถุงยางอนามัย จึงควรหลีกเลี่ยงสารหล่อลื่นที่เป็นน้ำมันพืช น้ำมันแร่เป็นตัวละลาย เนื่องจากสารเหล่านี้จะทำปฏิกิริยาจนเกิดความเสียหายต่อถุงยางอนามัยได้
  • ภายหลังการใช้ถุงยางอนามัยไม่ควรสัมผัสถุงยางโดยตรง เพราะอาจมีเชื้อโรคติดอยู่ที่ด้านนอกแล้ว
  • ถุงยางอนามัยที่ใช้แล้ว ควรนำไปเผา หรือทิ้งลงถังขยะในทันที
  • การเก็บรักษาให้พ้นจากความร้อน หรือแสงแดด และไม่ควรเก็บในที่ชื้น เช่น ในช่องเก็บของบนพาหนะเนื่องจากมีความร้อนสูง และไม่ควรเก็บในที่ถูกทับ หรือบีบรัด เช่น กระเป๋ากางเกง กระเป๋าเงิน เพราะอาจทำให้ถุงยางอนามัยเกิดการชำรุดได้ 
  • ด้วยราคาที่ไม่ได้แพง การป้องกันที่ง่าย และได้ผลดี เราจึงไม่ควรมองข้ามการใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งเมื่อมีเพศสัมพันธ์ เพื่อให้เกิดความปลอดภัยต่อตนเอง และต่อผู้อื่น รวมถึงลดปัญหาต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต เพราะถึงแม้ว่าเชื้อเอชไอวีอาจจะรักษาไม่ได้ แต่เราเลือกที่จะป้องกันได้
สวมถุงยางอนามัย

ข้อควรรู้เกี่ยวกับถุงยางอนามัย

  • ขนาดของถุงยางอนามัย  มีตั้งแต่ 44-56 มิลลิเมตร โดยวัดจากความกว้างของถุงยางที่คลี่แบนราบกับพื้น แต่โดยทั่วไปจะมีจำหน่ายเพียง 2 ขนาดคือ 49 และ 52 มิลลิเมตร การวัดขนาดให้เหมาะสมกับถุงยางอนามัย ให้วัดรอบวงของอวัยวะเพศขณะแข็งตัวเต็มที่เป็นหน่วยมิลลิเมตร และนำไปหารด้วย 2 จะได้เป็นขนาดของถุงยางอนามัยที่เหมาะสม
  • ห้ามใช้น้ำมันหรือโลชั่นเป็นสารหล่อลื่น   การใช้สารหล่อลื่นอื่นๆ เช่น น้ำมันมะพร้าว โลชั่น เบบี้ออยส์ วาสลีน สบู่เหลว ที่ไม่ใช่เจลหล่อลื่นจะทำให้ถุงยางอนามัยเกิดการฉีกขาดได้ง่ายในขณะมีเพศสัมพันธ์ ซึ่งจะส่งผลเสียต่อการใช้ถุงยางอนามัยได้ ดังนั้นควรใช้สารหล่อลื่นที่มีส่วนผสมของซิลิโคนเท่านั้น
  • ถุงยางอนามัยมีวันหมดอายุ สำหรับใครที่ได้รับถุงยางอนามัยแจกฟรี หรือถุงยางอนามัยมีถุงยางอนามัยที่ซื้อมาแล้วเก็บไว้เป็นเวลานาน ควรตรวจสอบวันหมดอายุก่อนนำมาใช้งานทุกครั้ง เนื่องจากสารหล่อลื่นที่อยู่ในซองถุงยางอนามัยนั้นอาจเสื่อมสภาพหรือหมดอายุไปแล้ว เมื่อนำมาใช้อาจก่อให้เกิดการระคายเคืองหรือถุงยางอนามัยชำรุดได้
  • บีบไล่อากาศที่ปลายถุงยางก่อนใส่ทุกครั้งก่อนสวมถุงยางอนามัยทุกครั้งควรบีบไล่อากาศออกก่อน เพราะอากาศที่อยู่บริเวณปลายถุงยางอาจจะทำให้ถุงยางอนามัยแตกหรือฉีกขาดได้ง่าย
  • สวมถุงยางอนามัยให้ถูกด้านเมื่อฉีกถุงยางอนามัยออกมาจากซองแล้ว ให้หันด้านที่มีกระเปาะตรงส่วนหัวออกด้านนอก และสวมลงบนอวัยวะเพศที่แข็งตัวอยู่ ถ้าสวมถูกด้านจะสามารถรูดถุงยางอนามัยลงได้ง่าย
  • ต้องสวมถุงยางอนามัยในขณะที่อวัยวะเพศแข็งตัวเต็มที่เท่านั้น
  • ควรใช้ถุงยางอนามัย 1 ชิ้น/1 ครั้ง ห้ามใช้ซ้ำ
  • ไม่ควรใส่ถุงยางอนามัยหลายชั้น เพราะจะทำให้เกิดการเสียดสี และฉีกขาดได้ง่าย
  • ห้ามใช้ถุงยางอนามัยชาย หากอีกฝ่ายมีการใช้ถุงยางอนามัยผู้หญิงแล้ว เพราะจะเพิ่มการเสียดสี ทำให้ถุงยางรั่ว หรือแตกได้
  • ควรเก็บถุงยางอนามัยเอาไว้ในที่แห้งและเย็น
  • หลีกเลี่ยงการเก็บถุงยางนามัยในที่ที่มีความชื้นสูง ถูกแสงแดด หรือแสงฟลูออเรสเซนต์ส่องโดยตรง เช่น ในรถยนต์ ในห้องน้ำ ในกระเป๋าสตางค์ เพราะจะทำให้ถุงยางอนามัยเสื่อมคุณภาพ

บทความที่เกี่ยวข้อง

เพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัยเป็นไปได้หรือไม่
โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เราป้องกันได้

อ้างอิงข้อมูลจากเว็บไซต์ :

  • แนะการใช้ถุงยางอนามัย4ขั้นตอน “เลือก เก็บ ใช้ ทิ้ง” https://www.thaihealth.or.th/Content/49255-แนะการใช้ถุงยางอนามัย4ขั้นตอน%20“เลือก%20เก็บ%20ใช้%20ทิ้ง”.html
  • ถุงยางอนามัย…กับความปลอดภัยเมื่อมีกิจกรรมรัก https://www.rama.mahidol.ac.th/rama_hospital/th/services/knowledge/08252020-1437
  • ถุงยางอนามัย ป้องกันได้แค่ไหนเมื่อมีเพศสัมพันธ์
    https://www.petcharavejhospital.com/th/Article/article_detail/condom_with_sex
  • วิธีใส่ถุงยางอนามัยที่ถูกต้อง
    https://multimedia.anamai.moph.go.th/help-knowledgs/how-to-put-on-a-condom/
  • ข้อดีของการใช้ ถุงยางอนามัย ที่อาจยังไม่รู้ https://new.camri.go.th/infographic/91
  • วิธีใส่ถุงยางอนามัยอย่างถูกต้อง https://www.pobpad.com/วิธีใส่ถุงยางอนามัยอย่

โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เราป้องกันได้

โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เราป้องกันได้
โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เราป้องกันได้

โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ มีผลกระทบต่อทุกคนที่มีเพศสัมพันธ์ การติดเชื้อบางอย่างสามารถรักษาได้เพื่อให้คุณ และคู่นอนของคุณมีสุขภาพที่แข็งแรง และคุณเองสามารถป้องกันตัวเองจากการติดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้

STI  คืออะไร?

โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ (Sexually transmitted infections; STI)  คือ การติดเชื้อจากบุคคลหนึ่งไปยังอีกบุคคลหนึ่งระหว่างการมีเพศสัมพันธ์ โดยผ่านการจูบ, การสัมผัสหรือถูอวัยวะเพศ, การมีเพศสัมพันธ์โดยใช้ปาก (การใช้ปากกับอวัยวะเพศ), การร่วมเพศ (องคชาตในช่องคลอด องคชาตในทวารหนัก), การใช้เซ็กซ์ทอย รวมถึง การติดเชื้อจากแม่ไปสู่ลูกระหว่างตั้งครรภ์ ระหว่างคลอด และหลังคลอด

โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่พบได้บ่อยที่สุด

  • เชื้อ HIV
  • โรคหนองใน
  • โรคหนองในเทียม
  • โรคหูดหงอนไก่และเชื้อ HPV
  • โรคเริม
  • โรคซิฟิลิส
  • โรคไวรัสตับอักเสบเอ โรคไวรัสตับอักเสบบี และโรคไวรัสตับอักเสบซี

ใครเสี่ยงที่จะติดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ?

  • การมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ใส่ถุงยางอนามัย กับบุคคลเหล่านี้จะทำให้คุณมีแนวโน้มการติดโรคทางเพศสัมพันธ์ได้มากขึ้น เช่น คู่นอนชั่วครั้งชั่วคราว, มีคู่นอนหลายคน หรือมีกิจกรรมทางเพศบ่อย
  • ผู้ชายที่มีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนักโดยไม่ใช้ถุงยางอนามัยกับผู้ชายคนอื่น
  • อายุน้อย ขาดความรู้ความเข้าใจในเรื่องเพศสัมพันธ์
  • เคยมีประวัติเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ในอดีต
  • ดื่มสุรา 
  • ใช้สารเสพติด

เมื่อไหร่ที่ควรมาตรวจโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์?

  • มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ใช้ถุงยางอนามัย (ทั้งผ่านทางช่องคลอด ทางปาก หรือทางหวารหนัก)
  • มีอาการของโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ที่บริเวณอวัยวะเพศของคุณ ได้แก่ องคชาต, ลูกอัณฑะ, ช่องคลอด, ปากช่องคลอด, ทวารหนัก โดยมีอาการดังนี้ เป็นผื่นหรือคันที่อวัยวะเพศ, มีสารคัดหลั่งจากองคชาต ช่องคลอด หรือทวารหนัก, อาการแสบเวลาปัสสาวะ, เจ็บแผล เป็นตุ่ม หรือมีหนอง, มีติ่งหรือก้อนเนื้อขึ้นบริเวณผิวหนัง, เจ็บปวดที่อวัยวะเพศหรือท้องน้อย, มีเลือดออกหลังจากมีเพศสัมพันธ์
  • กังวลว่าคุณอาจติดเชื้อจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
  • ถุงยางอนามัยของคุณฉีกขาดหรือหลุดออกระหว่างการมีเพศสัมพันธ์
  • คู่นอนของคุณมีเพศสัมพันธ์กับคนอื่น
  • ใช้เข็ม หลอดฉีดยา และช้อนในการฉีดสารเสพติดร่วมกับผู้อื่น

จะปฏิบัติตัวอย่างไรเมื่อสงสัยว่าอาจติดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ?

เมื่อพบว่ามีอาการผิดปกติที่สงสัยว่าเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ หรือเพิ่งมีความเสี่ยงในการติดโรค ควรรีบปรึกษาแพทย์ และงดการมีเพศสัมพันธ์ชั่วคราวเพื่อลดการแพร่กระจายเชื้อไปยังบุคคลอื่นจนกว่าจะทราบผลการตรวจ ถ้าแพทย์วินิจฉัยว่าเป็นโรคควรงดการมีเพศสัมพันธ์ จนกว่าจะได้รับการรักษาจนหาย และแนะนำให้คู่นอนในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา เข้ารับการตรวจรักษาด้วย 

โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่รักษาหาย และไม่หาย

โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่รักษาหาย

  • หนองใน
  • หนองในเทียม  
  • ซิฟิลิส  
  • ทริคโคโมแนส  
  • กามโรคของท่อและต่อม 
  • น้ำเหลือง  
  • แผลริมอ่อน  
  • หิดและโลน  
  • ตับอักเสบเอ  
  • หูดข้าวสุก

โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่รักษาไม่หายขาด

  • เอชไอวี  
  • เริมอวัยวะเพศ  
  • หูดหงอนไก่  
  • ตับอักเสบบี
  • ตับอักเสบซี 
เป็นSTIควรพบแพทย์

วิธีการป้องกันการเกิดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ทำอย่างไรได้บ้าง

  • การไม่มีเพศสัมพันธ์เป็นวิธีป้องกันที่ดีที่สุด แต่ถ้าเป็นไปไม่ได้ การมีคู่นอนคนเดียวและคู่นอนไม่ป่วยเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์จะช่วยลดโอกาสเกิดโรคได้ 
  • การใช้ถุงยางอนามัยอย่างถูกวิธีและทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์  และการมีเพศสัมพันธ์โดยใช้ปาก  ตรวจสอบวันที่ใช้งานเสมอ เนื่องจากถุงยางอนามัยเก่าอาจฉีกขาดได้ง่าย
  • ใช้แผ่นยางทันตกรรม (แผ่นยางบาง ๆ ที่ใช้เป็นตัวกั้น) สำหรับการมีเพศสัมพันธ์โดยใช้ปาก
  • ใช้สารหล่อลื่นสูตรน้ำเพื่อช่วยลดโอกาสการฉีกขาดของถุงยางอนามัยหรือแผ่นยางอนามัย  อย่าใช้วาสลีนหรือน้ำมันนวดตัว เพราะอาจทำให้ถุงยางหรือแผ่นยางอนามัยเสื่อมหรือฉีกขาดได้ง่าย
  • ใช้ถุงยางอนามัยใหม่หรือแผ่นยางอนามัยใหม่ทุกครั้งที่คุณมีเพศสัมพันธ์ (ถึงแม้ว่าคุณหรือคู่นอนของคุณจะไม่หลั่งน้ำกามออกมา) อย่าล้างถุงยางอนามัยและนำกลับมาใช้อีก
  • หากคุณมีเพศสัมพันธ์กับคนมากกว่าหนึ่งคน (มีเพศสัมพันธ์แบบสามคนหรือแบบเป็นกลุ่ม) เปลี่ยนถุงยางอนามัยหรือแผ่นยางทันตกรรมใหม่สำหรับแต่ละคน
  • เมื่อใช้เซ็กซ์ทอยในการมีเพศสัมพันธ์แบบสามคนหรือแบบเป็นกลุ่ม ให้ใช้ถุงยางอนามัยใหม่สำหรับแต่ละคน
  • หากคุณหรือคู่นอนของคุณมีอาการ อย่าสัมผัสหรือถูบริเวณนั้น
  • หากคุณคิดว่า คุณเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ อย่ามีเพศสัมพันธ์อีกจนกว่าคุณจะไปพบแพทย์
  • การตรวจคัดกรองโรคหนองในแท้และหนองในเทียมปีละครั้ง โดยเฉพาะหญิงอายุน้อยกว่า 25 ปีที่มีกิจกรรมทางเพศบ่อย หญิงที่มีคู่นอนหลายคน หรือกลุ่มชายรักชาย และการตรวจคัดกรองโรคซิฟิลิสอย่างน้อยปีละครั้งในกลุ่มชายรักชาย
  • การฉีดวัคซีนป้องกันการติดเชื้อเอชพีวี สำหรับคนที่มีอายุ 9-45 ปี โดยเฉพาะก่อนมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรก จะมีประสิทธิภาพสูงในการป้องกันการติดเชื้อเอชพีวี

บทความที่เกี่ยวข้อง

ไวรัสตับอักเสบซี (Hepatitis C Virus : HCV)
กามโรค โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

อ้างอิงข้อมูลจากเว็บไซต์ :

  • เกี่ยวกับโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ – About STIs (Thai) https://www.staystifree.org.au/about-stis/about-stis-thai
  • โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ https://www.pidst.or.th/A732.html