โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ คือ กลุ่มโรคที่เกิดจากการติดต่อผ่านทางเพศกับคนที่เป็นโรค หรือคนที่ติดเชื้อ ทั้งจากการร่วมเพศทางช่องคลอด ทางปาก หรือทวารหนัก และสามารถติดต่อจากแม่สู่ทารกในครรภ์ ผ่านการถ่ายโอนเลือด หรือการใช้เข็มร่วมกันได้เหมือนกัน โดยสามารแบ่งประเภทเชื้อที่เป็นต้นเหตุของโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์นั้น ๆ ได้แก่ เชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส เชื้อรา พยาธิ เป็นต้น
โรคหนองในเทียม Non Gonococcal Urethritis (NSU) คืออะไร
โรคหนองในเทียม คือ การอักเสบของท่อปัสสาวะที่เกิดเชื้อโรคที่ไม่ใช่หนองในแท้ (Gonococcal Urethritis) สำหรับเชื้อที่เป็นสาเหตุของโรคหนองในเทียมได้แก่
- Chlamydia trachomatis
- Ureaplasma urealyticum 10-40%
- Trichomonas vaginalis (rare)
- Herpes simplex virus (rare)
- Adenovirus
- Haemophilus vaginalis
- Mycoplasm genitalium
สำหรับเชื้อที่เป็นสาเหตุของหนองในเทียมที่พบบ่อยที่สุดคือ Chlamydia trachomatis หรือ หนองในเทียม (Chlamydia) เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งในเพศหญิง และเพศชาย เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียที่ชื่อว่า คลามัยเดีย ทราโคมาติส (Chlamydia Trachomatis)
ระยะฟักตัวของโรค
หลังจากได้รับเชื้อมักจะแสดงอาการภายใน 1-2 สัปดาห์ หรือนานกว่านั้น
สาเหตุของหนองในเทียม
เกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่ชื่อว่า คลามัยเดียทราโคมาติส (Chlamydia Trachomatis) จากการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ป้องกันกับผู้ที่ติดเชื้อ เชื้อสามารถแพร่ติดต่อได้หลายทาง เช่น ทางอวัยวะเพศ ทางทวารหนัก ทางปาก หรือแม้กระทั่งทางตา หากมีสารคัดหลั่งจากร่างกายของผู้ติดเชื้อกระเด็นใส่ รวมไปถึงการแพร่เชื้อจากแม่สู่ลูกในขณะตั้งครรภ์
อาการของหนองในเทียม
อาการหนองในเทียมในผู้ชายมีอาการอย่างไร?
- มีมูกใสหรือขุ่นไหลออกจากปลายอวัยวะเพศ ซึ่งไม่ใช่ปัสสาวะหรือน้ำอสุจิ
- มีอาการอักเสบที่บริเวณหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศ
- รู้สึกเจ็บหรือแสบที่อวัยวะเพศขณะปัสสาวะ
- รู้สึกปวดหรือมีการบวมที่ลูกอัณฑะ
- อาการได้ คือ เจ็บ ปวด หรือมีไข้
- มีหนองที่บริเวณทวารหนัก มีเลือดไหล
อาการหนองในในเทียมในผู้หญิงมีอาการอย่างไร?
- มีตกขาวลักษณะผิดปกติและมีกลิ่นเหม็น
- รู้สึกเจ็บหรือแสบที่อวัยวะเพศขณะปัสสาวะ
- รู้สึกคันหรือแสบร้อนบริเวณรอบอวัยวะเพศ
- รู้สึกเจ็บท้องน้อยเวลามีประจำเดือนหรือขณะมีเพศสัมพันธ์
- อาการได้ คือ เจ็บ ปวด หรือมีไข้
- มีหนองที่บริเวณทวารหนัก มีเลือดไหล
เมื่อไหร่ควรไปพบแพทย์
เมื่อเกิดข้อสงสัยว่าจะเป็นโรคหนองในหรือไม่ ก็ควรเข้าพบแพทย์ โดยสำรวจตัวเรา หรือคู่นอนมีอาการข้างต้นอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือมีโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ชนิดใดชนิดหนึ่ง โดยผู้ที่เป็นโรคหนองในมักไม่ค่อยแสดงอาการโดยเฉพาะผู้ป่วยที่เป็นผู้หญิง แต่หากเริ่มมีอาการแสบตอนปัสสาวะ หรือเริ่มมีผื่นขึ้นบริเวณโดยรอบอวัยวะเพศแล้วให้รีบไปพบแพทย์ หากแพทย์ลงความเห็นว่าเป็นโรคหนองใน ให้พาคู่นอนไปตรวจด้วยเช่นกัน
การวินิจฉัยโรคหนองในเทียม
จะทำการเก็บตัวอย่างสารคัดหลั่งจากบริเวณที่มีการร่วมเพศเพื่อส่งตรวจ การเก็บตัวอย่างสารคัดหลั่งสามารถทำได้ 2 วิธี ดังต่อไปนี้
- การเก็บตัวอย่างเชื้อไปตรวจ (Swap Test) คือการใช้ไม้พันสำลีเก็บตัวอย่างสารคัดหลั่งที่บริเวณปากมดลูก ปลายท่อปัสสาวะ ทวารหนัก หรือลำคอ เพื่อนำไปตรวจหาเชื้อ
- การทดสอบปัสสาวะ (Urine Test) คือการเก็บตัวอย่างปัสสาวะของผู้ป่วยไปตรวจ ควรเป็นปัสสาวะที่ทิ้งระยะจากการปัสสาวะครั้งล่าสุด 1-2 ชั่วโมง
การรักษาหนองในเทียม
สามารถรักษาได้โดยการรับประทานยาปฏิชีวนะเพื่อช่วยรักษา หรือป้องกันการติดเชื้อและแพร่กระจายของแบคทีเรีย
ตัวอย่างกลุ่มยาปฏิชีวนะที่ใช้ในการรักษาหนองในเทียมในประเทศไทย ได้แก่
- กลุ่มยาเพนิซิลลิน (Penicillins) ได้แก่ อะม็อกซีซิลลิน (Amoxicillin)
- กลุ่มยาแมคโครไลด์ (Macrolides) ได้แก่ อะซิโธรมัยซิน (Azithromycin), อิริโทรมัยซิน (Erythromycin), ร็อกซิโทรมัยซิน (Roxithromycin)
- กลุ่มยาเตตราไซคลิน (Tetracyclines)ได้แก่ ดอกซีไซคลิน (Doxycycline) เตตราไซคลิน (Tetracycline)
การรักษาหนองในเทียม แพทย์จะทำการเลือกใช้และปริมาณยาจะตามอวัยวะที่ติดเชื้อ ดังต่อไปนี้
หนองในเทียมที่อวัยวะเพศ ทวารหนัก และคอ แนะนำให้เลือกใช้ยาอย่างใดอย่างหนึ่ง ได้แก่
- อะซิโธรมัยซิน (Azithromycin) 1 กรัม กินครั้งเดียว ก่อนอาหาร 1 ชั่วโมง
- ดอกซีไซคลิน (Doxycycline) 100 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง หลังอาหาร นาน 14 วัน
- อิริโทรมัยซิน (Erythromycin) 500 มิลลิกรัม วันละ 4 ครั้ง นาน 14 วัน
- ร็อกซิโทรมัยซิน (Roxithromycin) 150 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง ก่อนอาหาร 15 นาที นาน 14 วัน
หนองในเทียมเยื่อบุตาในผู้ใหญ่ แนะนำให้เลือกใช้ยาอย่างใดอย่างหนึ่ง ได้แก่
- อะซิโธรมัยซิน (Azithromycin) 1 กรัม กินครั้งเดียว
- ดอกซีไซคลิน (Doxycycline) 100 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง หลังอาหาร นาน 10 วัน
- อิริโทรมัยซิน (Erythromycin) 500 มิลลิกรัม วันละ 4 ครั้ง หลังอาหาร นาน 21 วัน
- เตตราไซคลิน (Tetracycline) 250 มิลลิกรัม วันละ 4 ครั้ง หลังอาหาร นาน 21 วัน
ผู้ป่วยจะมีอาการดีขึ้นหลังได้รับการรักษาในระยะเวลาประมาณ 1-2 สัปดาห์ ผู้ป่วยในเพศหญิงอาจมีอาการติดเชื้อหนองในเทียมขั้นรุนแรง แพทย์อาจจ่ายยาด้วยการฉีดเข้าเส้นเลือด
ในระหว่างนี้ผู้ป่วยควรงดการมีเพศสัมพันธ์ทุกรูปแบบ จนกว่าจะสิ้นสุดการรักษา แม้จะมีการใส่ถุงยางอนามัยป้องกัน และสำหรับผู้ป่วยที่ได้รับยาแบบครั้งเดียว ควรหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์เป็นเวลา 1 สัปดาห์ และรับประทานยาจนครบตามแพทย์สั่ง ถึงแม้จะรู้สึกว่าอาการดีขึ้นแล้วก็ตาม
หลังจากนั้น 3 เดือน ควรกลับไปตรวจอีกครั้ง เพื่อลดอัตราเสี่ยงการเกิดซ้ำ ร่วมกับการตรวจคัดกรองหาเชื้อในคู่นอนที่เคยมีเพศสัมพันธ์กันภายใน 6 เดือนที่ผ่านมาด้วย
ผู้ป่วยไม่ควรซื้อยาปฏิชีวนะมากินเอง ควรเป็นการสั่งยาโดยแพทย์ เพื่อป้องกันการใช้ชนิดยาไม่ตรงกับโรคที่เป็นอยู่
การป้องกันหนองในเทียม
- ใช้ถุงยางอนามัยให้ถูกวิธีทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ สามารถช่วยป้องกันหนองในเทียม และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ ได้ถึง 99%
- มีคู่นอนเพียงคนเดียว การเปลี่ยนคู่นอนบ่อยเป็นการเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นหนองในเทียม และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ
- หลีกเลี่ยงการสวนล้างภายในร่างกาย โดยเฉพาะในเพศหญิง เพราะจะเป็นการลดจำนวนแบคทีเรียที่เป็นประโยชน์ต่อช่องคลอด และเป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ
- หนองในเทียมจะไม่ติดต่อผ่านการจูบ การกอด การใช้ช้อนส้อม การใช้สระว่ายน้ำ การใช้ห้องน้ำหรือห้องอาบน้ำร่วมกับผู้ป่วย
- ควรหมั่นไปพบแพทย์เป็นประจำเพื่อตรวจร่างกาย ตรวจเลือด หรือตรวจหาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
- ควรดื่มน้ำก่อนร่วมเพศและถ่ายปัสสาวะทันทีหลังร่วมเพศ หรือฟอกล้างสบู่ทันทีหลังร่วมเพศ อาจช่วยลดการติดเชื้อลงได้บ้าง แต่ไม่ใช่ว่าจะได้ผลทุกราย
- หากมีอาการที่บ่งชี้ว่ากำลังเป็นโรคหนองในแท้ หนองในเทียม หรือโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ ควรงดการมีเพศสัมพันธ์และรีบไปพบแพทย์ เพราะหากผลตรวจออกมาพบว่าเป็นโรคหนองในเทียม และผู้ป่วยได้รับการรักษาอย่างรวดเร็ว ก็จะช่วยป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนดังที่กล่าวมาได้ นอกจากนี้ยังต้องแจ้งให้คู่นอนที่มีเพศสัมพันธ์ด้วยภายในช่วง 60 วันที่ผ่านมาได้ทราบเพื่อเข้ารับการตรวจรักษาที่เหมาะสมจนกว่าจะหายดี ก่อนที่จะเริ่มมีเพศสัมพันธ์อีกครั้ง
การปฏิบัติตนเมื่อเป็นโรคหนองในเทียม
- งดมีเพศสัมพันธ์รวมถึงสำเร็จความใคร่จนกว่าจะรักษาหาย เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อโรคหนองใน
- ควรพาคู่นอนที่เคยมีเพศสัมพันธ์ไปตรวจหาเชื้อหนองในให้เร็วที่สุด
- ทำความสะอาดบริเวณอวัยวะเพศ และทำให้แห้งอยู่เสมอ
- ห้ามใช้ของร่วมกับผู้อื่นเพื่อลดการแพร่เชื้อ
- ไม่ควรรีดหนองด้วยตนเอง เพราะจะทำให้เกิดการอักเสบจนเกิดภาวะแทรกซ้อนได้
- เข้ารับการตรวจตามนัดทุกครั้ง และทำตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด
- รีบพบแพทย์หากมีอาการผิดปกติ ไม่ควรซื้อยามารับประทานเอง
- งดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ทุกชนิด เพราะเครื่องดื่มเหล่านี้จะทำให้หนองไหลเพิ่มมากขึ้น
- ยาปฏิชีวนะสำหรับการรักษาโรคหนองในจะมีผลต่อประสิทธิภาพของยาเม็ดคุมกำเนิด ซึ่งในระหว่างที่ทำการรักษา จึงควรงดการมีเพศสัมพันธ์ และในรอบเดือนนั้น ควรใช้วิธีการคุมกำเนิดอย่างอื่นร่วมด้วย อาทิ การใช้ถุงยางอนามัย
- ภายหลังที่ได้รับการรักษาแล้ว ส่วนใหญ่ อาการต่างๆ จะหายไปค่อนข้างเร็วภายใน 2 – 3 วันที่เริ่มทำการรักษา ไม่ว่าจะเป็น อาการตกขาวผิดปกติ และแสบขัดเวลาที่ปัสสาวะ ส่วนอาการเลือดออกแบบกะปริดกะปรอยในระหว่างรอบเดือนนั้นก็จะดีขึ้นในรอบหน้า ส่วนอาการปวดท้องน้อยและอาการปวดอัณฑะในผู้ชายจะเวลานานกว่าจึงจะดีขึ้น และจะหายไปภายใน 2 สัปดาห์ แต่หากอาการต่างๆ ไม่ดีขึ้น ควรรีบกลับไปพบแพทย์เพื่อตรวจประเมินซ้ำอีกครั้ง เพราะอาจพบภาวะเชื้อดื้อยา หรือโรคมีการลุกลามเพิ่มมากขึ้น
- หากได้รับการรักษาแล้ว แต่มีอาการที่คล้ายกับว่าจะแพ้ยา เช่น มีผื่นคันขึ้นตามตัว คลื่นไส้ อาเจียน หรืออาการที่เป็นอยู่นั้นรุนแรงมากขึ้น ควรรีบไปพบแพทย์ก่อนนัด
- เมื่อรักษาตามอาการจนครบแล้ว ให้มาพบแพทย์เพื่อตรวจซ้ำจนกว่าจะแน่ใจว่าเชื้อหนองในหายสนิทในทุกตำแหน่งที่เคยมีเพศสัมพันธ์แล้ว อาทิ ช่องปาก ทวารหนัก ช่องคลอด เป็นต้น
- ผู้ที่เป็นโรคหนองใน หลังจากที่ได้รับการรักษาจนหายดี แต่หากได้สัมผัสโรคอีกครั้งก็จะกลับมาเป็นซ้ำอีก
บทความที่เกี่ยวข้อง
อ้างอิงข้อมูลจากเว็บไซต์ :
- หนองในเทียม https://www.pobpad.com/หนองในเทียม
- หนองในเทียม อาการ สาเหตุ การรักษาโรคหนองในเทียม 5 วิธี !! https://medthai.com/หนองในเทียม/
- โรคหนองในเทียม Non Gonococcal Urethritis (NSU) https://www.mplusthailand.com/โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ/หนองในเทียม/