หูดข้าวสุก | Molluscum contagiosum

หูดข้าวสุก Molluscum contagiosum
หูดข้าวสุก Molluscum contagiosum

หูดข้าวสุก เกิดจากการติดเชื้อไวรัส Molluscum contagiosum virus ซึ่งเป็นเชื้อไวรัสคนละชนิดกับที่ทำให้เกิดหูดทั่วไป เป็นโรคที่พบได้บ่อยทั่วโลก และจะมีอัตราการเกิดมากขึ้นในประเทศเขตร้อน พบได้ทุกเพศทุกวัย ซึ่งเชื้อไวรัสชนิดนี้สามารถเข้าไปในผิวหนังที่แตก ลอก หรือผิวหนังที่เป็นแผล และกลายเป็นหูดข้าวสุกได้ แต่จะไม่มีผลกระทบต่ออวัยวะภายใน

การวินิจฉัยหูดข้าวสุก

หูดข้าวสุก สามารถวินิจฉัยได้จากการตรวจรอยโรคที่ผิวหนังด้วยตาเปล่า ซึ่งจะพบลักษณะเฉพาะคือ เป็นตุ่มที่มีรอยบุ๋มคล้ายสะดือตรงกลางรอยโรค แต่ในผู้ป่วยที่มีลักษณะของรอยโรคไม่ชัดเจน แพทย์จะตัดชิ้นเนื้อที่รอยโรคเพื่อไปตรวจทางพยาธิวิทยา หรือเพียงแต่ใช้เข็มเจาะหรือดูดเอาสารภายในรอยโรคมาย้อมสีด้วยเทคนิคทางการแพทย์ เพื่อตรวจหาก้อน Molluscum bodies ซึ่งจะเห็นเป็นสารสีส้มในสไลด์  ในรายที่มีหูดข้าวสุกขึ้นกระจายอยู่เป็นจำนวนมาก หรือหูดข้าวสุกมีขนาดใหญ่ แพทย์อาจขอตรวจเลือดดูว่ามีการติดเชื้อเอชไอวี (HIV) ร่วมด้วยหรือไม่

ลักษณะอาการของหูดข้าวสุก

ลักษณะอาการของหูดข้าวสุก
  • เป็นตุ่มสีเนื้อที่ผิวหนัง ไม่มีอาการคันหรือเจ็บ ขนาดประมาณ 2-5 มิลลิเมตร
  • มักพบบริเวณใบหน้า แขน/ขา ในเด็ก และบริเวณอวัยวะเพศในผู้ใหญ่
  • ในรายที่เป็นโรคภูมิแพ้ผิวหนัง อาจมีอาการผื่นแดงคันบริเวณหูดข้าวสุกร่วมด้วย ซึ่งอาการผื่นแดงคันนี้ จะหายไปเมื่อทำการรักษาหูดข้าวสุก
  • ในผู้ป่วยโรคเอดส์ ปริมาณของหูดจะเกิดมากกว่าในคนที่ภูมิคุ้มกันต้านทานโรคปกติ และมักดื้อต่อการรักษา
  • หูดข้าวสุกนั้น สามารถหายได้เองแม้ไม่ได้ทำการรักษาที่ระยะเวลาประมาณ 2-9 เดือน มีส่วนน้อยมากที่อาศัยเวลา 2-3 ปีจึงหาย

ใครบ้างที่เสี่ยงเป็นหูดข้าวสุก

ทุกคนสามารถมีโอกาศติดเชื้อไวรัส molluscum contagiosum แต่คนบางกลุ่มมีแนวโน้มที่จะติดเชื้อมากกว่าคนอื่น คือ

  • เด็กที่มีช่วงอายุ 1-10 ขวบ
  • ผู้ที่มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ป้องกัน
  • ผู้ที่สัมผัสโดยตรงกับผู้ป่วยที่เป็นหูดข้าวสุก
  • นักกีฬาที่ต้องมีการสัมผัสโดยตรงทาง ร่างกายกับผู้อื่น
  • ผู้ป่วยโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง  หรือโรคผิวหนังอื่น ๆ ที่เป็นผื่นแล้วต้องเกาบ่อย ๆ
  • ผู้ที่อยู่อาศัยในโซนเขตร้อน
  • ผู้ป่วยที่มีระบบภูมิคุ้มกันที่อ่อนแอ 

การป้องกันหูดข้าวสุก

  • สวมถุงยางอนามัยทุกครั้งเมื่อมีเพศสัมพันธ์
  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสรอยโรค การมีเพศสัมพันธ์กับผู้ป่วยที่เป็นหูดข้าวสุก
  • ควรล้างมือให้สะอาดอยู่เป็นประจำ
  • ไม่ใช้สิ่งของหรือของใช้ส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น
  • ออกกำลังกายเ็นประจำ รักษาสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอ
  • พักผ่อนให้เพียงพอ และรับประทานอาหารที่มีประโยชน์

การรักษาหูดข้าวสุก

การรักษา หูดข้าวสุก

ปัจจุบันหูดข้าวสุกไม่มียารักษาโดยตรงเฉพาะโรค เพราะสามารถหายได้เองแต่ใช้เวลาหลายเดือน ซึ่งทางเลือกการรักษาช่วยป้องกันการแพร่กระจายของโรค ได้แก่ การจี้ด้วยความเย็น เพื่อทำลายหูด ใช้อุปกรณ์ปลายแหลมบ่งตุ่ม หูดข้าวสุกและกดออก และใช้ยาทาเพื่อทำลายเซลล์ติดเชื้อหูดข้าวสุก แนะนำให้เข้ารับการรักษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น เพื่อการวินิจฉัยและการรักษาที่ถูกต้อง

อ่านบทความอื่น ๆ เพิ่มเติม

ขอบคุณข้อมูล : medthai, ihealzy

หูดข้าวสุก เป็นหูดที่มีลักษณะเป็นตุ่มเล็ก ๆ สีแดง และมีสารคล้ายข้าวสารอยู่ข้างใน ลักษณะเป็นรูปทรงโดมและเห็นเป็นจุดบุ๋มตรงกลาง คล้ายเม็ดสิวแต่ไม่มีการอักเสบ ถ้าบีบก็จะมีสารสีขาวข้นไหลออกมา จึงเรียกกันว่า “หูดข้าวสุก” แม้อาการอาจดูไม่ร้ายแรง แต่ก็สามารถนำพาความเสี่ยงที่จะเกิดโรคแทรกซ้อนอื่นๆได้เช่นกัน แถมยังสร้างความรำคาญใจและไม่สะดวกในการใช้ชีวิตให้อีกด้วย ดังนั้น การป้องกันตัวเองจึงถือเป็นเรื่องสำคัญที่ไม่ควรละเลย