PrEP-PEP ยาต้านไวรัสเอชไอวี ลดเสี่ยงติดเชื้อเอชไอวี

PrEP-PEP ยาต้านไวรัสเอชไอวี ลดเสี่ยงติดเชื้อเอชไอวี
PrEP-PEP ยาต้านไวรัสเอชไอวี ลดเสี่ยงติดเชื้อเอชไอวี

สิ่งสำคัญของยาต้านไวรัสเอชไอวี คือ เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อดอชไอวี ทั้งก่อนและหลังการสัมผัสเชื้อ หากพูดถึงวิธีป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี คนส่วนใหญ่จะนึกถึงการสวมถุงยางอนามัย ซึ่งเป็นวิธีป้องกันก่อนการสัมผัสเชื้อที่ปลอดภัย และลดความเสี่ยงได้อย่างมีประสิทธิภาพ

หากใช้ร่วมกับยาต้านไวรัสเอชไอวี ก็อาจช่วยลดความเสี่ยงได้มากขึ้น แต่ต้องใช้อย่างถูกต้อง ซึ่งโดยคนส่วนใหญ่ยังขาดความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้ยาต้านเอชไอวี PrEP และPEP  ว่าทำหน้าที่ป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีอย่างไร เราจึงจำเป็นต้องทำความเข้าใจก่อนการใช้ยาต้านไวรัสเอชไอวี

PrEP และ PEP คืออะไร?

เพร็พ (PrEP-Pre-Exposure Prophylaxis) คือ ยาต้านไวรัสเอชไอวี ที่ป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีสำหรับผู้ที่มีผลเลือดเป็นลบ หรือเป็นการใช้ยาเพื่อเตรียมตัวไว้ก่อนจะมีโอกาสได้สัมผัสเชื้อ

เป๊ป (PEP- Post-Exposure Prophylaxis) คือ ยาต้านไวรัสฉุกเฉิน สำหรับผู้ที่มีผลเลือดเป็นลบที่เพิ่งได้สัมผัสเชื้อมาไม่เกิน 72 ชั่วโมง

PrEP & PEP ทำงานอย่างไร?

กลไกของยา PrEP จะไปสะสมอยู่ในเม็ดเลือดขาวในเลือดและเนื้อเยื่อต่าง ๆ ของร่างกาย รวมทั้งอวัยวะที่เป็นช่องทางเข้าของเชื้อเอชไอวี เช่น ช่องคลอด ปากมดลูก ปากทวารหนัก เยื่อบุอวัยวะสืบพันธุ์ชาย ฯลฯ

เมื่อเชื้อเอชไอวี เข้าไปในร่างกายในช่องทางดังกล่าว เชื้อก็จะถูกยาที่สะสมอยู่ก่อนหน้านั้นยับยั้งไม่ให้แบ่งตัว จึงสามารถป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี ได้ แต่ก่อนจะเริ่มกินยา PrEP ต้องมีการตรวจเลือดให้แน่ใจก่อนว่าไม่ได้ติดเชื้อมาก่อน หรือมีผลเลือดเป็นลบ และต้องตรวรค่าการทำงานของไต ซึ่งไม่จำเป็นต้องกินยาตลอดชีวิต แต่กินยาเฉพาะช่วงที่คิดว่าจะตัวเองจะมีพฤติกรรมเสี่ยงต่อการสัมผัสเชื้อ

กลไกของยา PEP จะช่วยยับยั้งการแบ่งตัวของสารพันธุกรรมในเชื้อ และยับยั้งการกลายเป็นตัวไวรัสที่สมบูรณ์ ซึ่งจะทำให้ร่างกายของผู้ป่วยสร้างระบบภูมิคุ้มกันในการป้องกันก่อนจะแพร่กระจายภายในร่างกายได้ ดังนั้นจึงควรรับประทานยาให้เร็วที่สุด

ประโยชน์ของ PrEP & PEP คืออะไร?

PrEP

ยาต้านไวรัสเอชไอวี แก่ผู้ที่ยังไม่ติดเชื้อเอชไอวี ก่อนมีการสัมผัสที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อ เพื่อป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีจากการสัมผัสนั้น PrEP สามารถให้ได้ทั้งในรูปยากิน หรือสารฆ่าจุลินทรีย์ในรูปเจลผสมยาต้านไวรัสใส่ในช่องคลอด หรือในทวารหนัก และห่วงบรรจุยาต้านใส่ในช่องคลอด เพื่อป้องกันการติดเชื้อได้ทันท่วงทีหลังการสัมผัสเชื้อ และเป็นการเพิ่มการป้องกันต่อการติดเชื้อเอชไอวี

PEP

ยาต้านไวรัสไอวีที่ช่วยลดโอกาสในการสร้างไวรัสเอชไอวีในร่างกายหลังจากที่ร่างกายได้รับการสัมผัสเชื้อ ซึ่งมาจากหลายรูปแบบ อาทิ การมีเพศสัมพันธ์ โดยไม่ป้องกัน การใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน หรืออุบัติเหตุจากการโดนเข็มฉีดยาตำ เป็นต้น

PrEP-PEP เหมาะกับใคร ใครบ้างที่ควรได้รับยา

PrEP & PEP เหมาะกับใคร ใครบ้างที่ควรได้รับยา

PrEP เหมาะสำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงติดเชื้อเอชไอวีสูง 

  • ชายที่มีเพศสัมพันธ์ชาย
  • ผู้ที่มีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่มีเชื้อเอชไอวี
  • ผู้ที่มีคู่นอนหลายคน
  • ผู้ที่ทำงานบริการทางเพศ
  • ผู้ที่มาขอรับบริการ Post-Exposure Prophylaxis (PEP) อยู่เป็นประจำโดยไม่สามารถลดพฤติกรรมเสี่ยงลงได้
  • ผู้ที่มีโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ภายใน 6 เดือนที่ผ่านมา
  • ผู้มีคู่ผลเลือดบวกและคู่กำลังรอเริ่มยาต้านเอชไอวีอยู่หรือคู่ได้รับยาต้านเอชไอวีแล้วแต่ยังคงตรวจพบเชื้อไวรัสในเลือดอยู่ หรือะรอดูผลการรักษา
  • ผู้ที่มีคู่ผลเลือดบวกที่ไม่สามารถใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งเมื่อมีเพศสัมพันธ์
  • ผู้ใช้ยาเสพติดด้วยวิธีฉีดที่กำลังฉีดอยู่หรือฉีดครั้งสุดท้ายภายใน 6 เดือนรวมถึงผู้ที่ใช้เข็มฉีดยาร่วมกับผู้อื่น
  • ผู้ที่มีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่ไม่ทราบผลการติดเชื้อเอชไอวีโดยไม่สวมถุงยางอนามัย และมีแนวโน้มที่จะมีความเสี่ยงอย่างต่อเนื่อง
  • ผู้ที่มีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนักโดยไม่สวมถุงยางอนามัยกับผู้ที่ไม่ทราบผลการติดเชื้อ HIV

PEP เหมาะสำหรับผู้ที่คาดว่ามีการสัมผัสเชื้อเอชไอวี มาภายในระยะเวลาไม่เกิน 72 ชั่วโมง ซึ่งจะใช้ในกรณีดังนี้

  • ผู้ที่คิดว่าตนเองอาจสัมผัสกับเชื้อ HIV เช่น มีเพศสัมพันธ์โดยไม่สวมถุงยางอนามัยกับผู้ที่ไม่ทราบผลการติดเชื้อ ถุงยางอนามัยฉีกขาด เป็นต้น
  • ถูกล่วงละเมิดทางเพศ
  • ผู้ที่ใช้สารเสพติดที่มีการฉีดครั้งสุดท้ายภายใน 6 เดือน รวมถึงผู้ที่ใช้เข็มฉีดยาร่วมกับผู้อื่น
  • ผู้ที่เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ภายใน 6 เดือน
  • บุคลากรสาธารณสุขที่ถูกเข็มฉีดยาของผู้ป่วยทิ่มตำ

จะรับ PrEP & PEP ได้อย่างไร

การรับ PrEP

  • งดมีเพศสัมพันธ์ 2 สัปดาห์ก่อนมารับ PrEP
  • ผู้มารับบริการจะต้องได้รับการตรวจเอชไอวี การทำงานของตับและไต 
  • หลังจากที่ได้รับยา PrEP ครั้งแรกจะนัดตรวจเลือด 1 เดือน หลังจากนั้นนัดตรวจเลือดทุก 3 เดือน 
  • หากต้องการหยุดยา ผู้มารับบริการต้องมาตรวจเลือดก่อนหยุดยา PrEP ทุกครั้ง

การรับ PEP

  • ก่อนที่ผู้รับบริการจะรับยา PEP แพทย์จะซักประวัติเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และพิจารณาว่าจำเป็นต้องรับยา PEP หรือไม่ 
  • แพทย์จะสั่งตรวจเอชไอวี ตรวจไวรัสตับอักเสบบี การทำงานของตับและไตก่อนรับยา PEP
  • หากติดเชื้อ HIV อยู่ก่อนแล้ว จะไม่สามารถใช้ยา PEP ได้
  • หลังรับประทานยาครบ 28 วัน ตรวจเอชไอวีซ้ำ 1 เดือน และ 3 เดือน 
  • งดบริจาคเลือด และใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์

วิธีการกินยา PrEP & PEP

  • กินยา PrEP นี้เป็นประจำทุกวัน วันละ 1 ครั้ง แพทย์จะนัดทุก 3 เดือน เพื่อตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวี และเฝ้าระวังผลข้างเคียงของยา ถ้าไม่มีความเสี่ยงแล้ว สามารถหยุดได้หลังมีความเสี่ยงครั้งสุดท้าย 4 สัปดาห์
  • กินยา PEP ต้องได้รับทันที ห้ามเกิน 72 ชั่วโมง รับยาติดต่อกัน 28 วัน มีสูตรยาหลายสูตรขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์

ผลข้างเคียงของยา PrEP & PEP 

  • PrEP  มีอาการคลื่นไส้และน้ำหนักลดหลังได้รับยาในระยะแรก ผลข้างเคียงระยะยาวพบได้น้อย ได้แก่ ผลต่อการทำงานต่อไต 
  • PEP มีผลข้างเคียง เช่น ท้องเสีย ปวดหัว อิดโรย คลื่นไส้ และอาเจียน 

ข้อจำกัดของ PrEP & PEP  

  • ไม่สามารถปกป้องจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้
  • ไม่สามารถปกป้องกลุ่มเสี่ยงได้ถ้าไม่รับประทานยาตามที่กำหนด
  • ไม่สามารถฆ่าเชื้อเอชไอวี หรือเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้
PrEP-PEP ป้องกันจากการติดเชื้อเอชไอวีได้มากแค่ไหน

PrEP & PEP ป้องกันจากการติดเชื้อเอชไอวีได้มากแค่ไหน

การใช้ยา PrEP อย่างสม่ำเสมอต่อเนื่อง โดยกินต่อเนื่องทุกวันไปอย่างน้อย 7 วันก่อนที่จะมีความเสี่ยง จะช่วยลดความเสี่ยงของการติดเชื้อเอชไอวี จากการมีเพศสัมพันธ์ได้มากกว่า 90 % ส่วนในกรณีของผู้ใช้ยาเสพติดแบบฉีด สามารถลดความเสี่ยงในการติดเชื้อลงได้ถึง 70%

การใช้ยา PEP ไม่ได้หมายความว่าจะป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี ได้ 100% แต่เนื่องจากปัจจัยที่มีผลต่อการที่คนคนนึงจะติดเชื้อ เอชไอวี หรือไม่หลังได้รับยา PEP นั้นมีมากมายหลายข้อ ไม่ว่าจะเป็นแหล่งของโรคที่รับเชื้อมา ว่ามีปริมาณ viral load มากน้อยแค่ไหน ความเข็งแรงของตัวคนไข้เอง ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ล้วนส่งผลต่อโอกาสที่คนไข้จะติดหรือไม่ติดเชื้อเอชไอวี ทั้งสิ้น 

ความเสี่ยงและข้อกังวลของ PrEP & PEP

  • ผู้รับการรักษาต้องไม่มีการติดเชื้อเอชไอวี และต้องตรวจสุขภาพตามขั้นตอนทางการแพทย์ก่อนจึงจะสามารถรับยาได้
  • อาจทำให้ตรวจเจอเชื้อไวรัสได้ช้าลงในผู้ที่ติดเชื้อเอชไอวีในช่วงก่อนการใช้ยา
  • เป็นเพียงตัวช่วยเสริมการป้องกันการติดเชื้อเท่านั้น ไม่สามารถป้องกันได้ 100% จึงต้องใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์
  • ในระยะยาวอาจส่งผลกระทบต่อกระดูกและไตได้
  • อาจทำให้เกิดผลข้างเคียง อย่างอาการเวียนและปวดศีรษะ อ่อนแรง ซึ่งมักดีขึ้นได้เองในเวลานไม่นาน
  • ต้องรับประทานติดต่อกันอย่างน้อย 7 วัน ก่อนจึงมีประสิทธิภาพช่วยป้องกันไวรัสเอชไอวี
  • อาจมีปฏิกิริยากับยาบางชนิดจึงควรแจ้งแพทย์เกี่ยวกับยาที่ใช้ทุกครั้ง
  • ผู้ที่ทำงานดูแลผู้ติดเชื้อเอชไอวีควรสวมอุปกรณ์ป้องกันอยู่เสมอ
  • ไม่เปลี่ยนคู่นอนบ่อย เนื่องจากบางคนอาจไม่ทราบสถานะการติดเชื้อของตนเอง
  • ไม่ควรมีเพศสัมพันธ์ครั้งละหลายคนพร้อมกัน
  • หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และสารเสพติดที่ทำให้เกิดอาการมึนเมา ขาดสติ ซึ่งอาจทำให้เกิดการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกันได้
  • ใช้เข็มฉีดยาใหม่ทุกครั้ง และไม่ใช้เข็มฉีดยาร่วมกับผู้อื่น
  • หากมีพฤติกรรมเสี่ยง ควรไปพบแพทย์และรับประทานยาอย่างต่อเนื่อง

ความแตกต่างระหว่างยา PEP และ PrEP

  • PrEP คือ ยาป้องกัน ก่อน การเสี่ยงในการได้รับหรือสัมผัสเชื้อเอชไอวี ทานวันละ 1 เม็ด ให้ตรงเวลา
  • PEP  คือ ยาฉุกเฉินทาน หลัง การเสี่ยงการได้รับหรือสัมผัสเชื้อเอชไอวี ภายใน 72 ชั่วโมง ทานวันละ 1 เม็ด ติดต่อกัน 28 วัน

บทความที่เกี่ยวข้อง

รอบรู้เรื่องถุงยางอนามัย

เพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัยเป็นไปได้หรือไม่ 

อ้างอิงข้อมูลจากเว็บไซต์ :

  • PrEP กับ PEP คืออะไร ทำความเข้าใจก่อนใช้ https://chulalongkornhospital.go.th/kcmh/line/prep-กับ-pep-คืออะไร-ทำความเข้าใ/
  • PrEP กับ PEP http://wongkarnpat.com/viewya.php?id=2401
  • เพร็พ (PREP) ,เป็ป (PEP) คืออะไร https://th.trcarc.org/เพร็พ-prep-เป็ป-pep-คืออะไร/
  • ยาต้านไวรัส HIV อีกหนึ่งทางเลือกดี ๆ ที่อาจช่วยลดความเสี่ยง https://www.pobpad.com/ยาต้านไวรัส-hiv-อีกหนึ่งทา

แนวทางการรักษาผู้ติดเชื้อเอชไอวีในปัจจุบัน

แนวทางการรักษาผู้ติดเชื้อเอชไอวีในปัจจุบัน
แนวทางการรักษาผู้ติดเชื้อเอชไอวีในปัจจุบัน

เชื้อเอชไอวี (Human Immunodeficiency Virus) คือ ไวรัสที่จะเข้าไปกัดกินทำลายเซลล์เม็ดเลือดขาว ทำให้ภูมิคุ้มกันบกพร่อง

เอดส์ (Acquired Immunodeficiency Syndrome – AIDS) คือ กลุ่มอาการของการติดเชื้อโรคแทรกซ้อนต่างๆ เมื่อระบบภูมิคุ้มกันของร่งกายถูกเชื้อเอชไอวีทำลายจนไม่สามารถต้านทานเชื้อโรคที่เข้าสู่ร่างกายเหล่านี้ได้

การติดเชื้อเอชไอวี ไม่จำเป็นต้องมีอาการเอดส์ หากรู้เร็วด้วย การตรวจเลือด และรักษาเร็วด้วยยาต้านไวรัส

โดยสาเหตุของการติดเชื้อเอชไอวีที่พบบ่อยที่สุด คือ ติดเชื้อผ่านการมีเพศสัมพันธ์ การใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน ส่งผ่านจากแม่สู่ลูกระหว่างการตั้งครรภ์ สัมผัสเลือด น้ำอสุจิ ของเหลวจากช่องคลอดของผู้ติดเชื้อ หรือแม้แต่น้ำนมแม่ก็สามารถแพร่เชื้อเอชไอวีได้เช่นกัน

การติดเชื้อเอชไอวีแบ่งเป็น 4 ระยะ คือ

1) ระยะติดเชื้อเฉียบพลัน คือ ระยะที่รับเชื้อมาใหม่ๆ หรือช่วงระหว่าง 2-4 สัปดาห์ หลังจากติดเชื้อมา โดยผู้ติดเชื้อบางส่วนจะมีอาการคล้ายไข้หวัด มีอาการ มีไข้ เจ็บคอ ต่อมน้ำเหลืองโต ปวดเมื่อยตามร่างกาย มีผื่นและปวดหัว อาการเหล่านี้เรียกว่า acute retroviral syndrome หรือ ARS เป็นอาการที่ร่างกายตอบสนองต่อการติดเชื้อเอชไอวี

2) ระยะไม่ปรากฏอาการ คือ เป็นระยะที่ไม่มีอาการผิดปกติใดๆ จึงทำให้ผู้ติดเชื้อสามารถแพร่เชื้อให้กับบุคคลอื่นได้ง่ายโดยการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ได้ป้องกัน เนื่องจากไม่ทราบว่าตนเองติดเชื้อ  อาจอยู่ในระยะนี้นานถึง 10 ปี

3) ระยะมีอาการ คือ ในระยะนี้จะมีอาการผิดปกติปรากฏให้เห็นได้ เช่น ต่อมน้ำเหลืองโตติดต่อกันนานหลายเดือน มีเชื้อราบริเวณในปาก โดยเฉพาะกระพุ้งแก้ม และเพดานปาก เป็นงูสวัด หรือแผลเริมชนิดลุกลาม มีอาการเจ็บป่วยเรื้อรัง โดยไม่ทราบสาเหตุเกิน 1 เดือน เช่น มีไข้ ท้องเสีย ผิวหนังอักเสบ น้ำหนักลด และอื่น ๆ ในระยะนี้อาจมีอาการอยู่เป็นปี ก่อนพัฒนาลุกลามกลายเป็นเอดส์เต็มขึ้นในระยะต่อไป

4) ระยะเอดส์ คือ ในระยะนี้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายจะถูกทำลายลงไปเยอะมาก ซึ่งทำให้เป็นโรคต่าง ๆ ได้ง่าย เพราะเชื้อโรคสามารถเข้าสู่ร่างกายได้ง่ายขึ้น และร่างกายก็ไม่สามารถขจัดเชื้อโรคเหล่านี้ออกไปจากร่างกายได้  ซึ่งมีหลายชนิด ขึ้นอยู่กับว่าติดเชื้อชนิดใด และเกิดขึ้นบริเวิณอวัยวะส่วนใดของร่างกาย เช่น หากติดเชื้อวัณโรคที่ปอด อาการที่พบจะมีไข้เรื้อรัง ไอเป็นเลือด แต่ถ้าเป็นเยื้อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อ จะมีอาการปวดศีรษะอย่างรวดแรง อาเจียน คอแข็ง คลื่นไส้ และถ้าเป็นอาการที่เกี่ยวกับระบบประสาทก็จะมีอาการซึมเศร้า แขนขาอ่อนแรง ความจำเสื่อม  หรือที่รวมเรียกว่า โรคติดเชื้อฉวยโอกาส (opportunistic infections) ซึ่งพบว่าผู้ป่วยโรคเอดส์ในระยะสุดท้ายนี้ จะมีชีวิตอยู่ได้เพียง 1 – 2 ปีเท่านั้น

แนวทางการรักษาผู้ติดเชื้อเอชไอวีในปัจจุบัน

คือ การรักษาด้วยยาต้านเอชไอวีเท่านั้น เพราะช่วยในการยับยั้งการเพิ่มจำนวนของเชื้อเอชไอวีในกระแสเลือด เมื่อจำนวนเชื้อลดลง  ร่างกายก็สามารถสร้างภูมิคุ้มกันได้มากขึ้น   โอกาสในการเจ็บป่วยด้วยโรคฉวยโอกาสจึงลดลง เพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย ทำให้ผู้ป่วยส่วนมากสามารถทำงานและดำรงชีวิตตามปกติได้  และการเสียชีวิตจากโรคฉวยโอกาสก็เป็นไปได้น้อย จึงเป็นวิธีการรักษาที่ได้ผลดีที่สุด โดยผู้ติดเชื้อจะได้รับยาต้านเอชไอวีอย่างน้อย 3 ชนิดร่วมกันเป็นสูตรยา แต่มีหลักการรักษา คือ ผู้ติดเชื้อต้องกินยาให้ตรงเวลาทุกวันต่อเนื่องตลอดชีวิต เพราะยาจะไปทำการยับยั้งการแบ่งตัวและการเพิ่มจำนวนของเชื้อไวรัส ถ้าหยุดกินเมื่อไหร่ก็จะทำให้เชื้อไวรัสแบ่งตัวเพิ่มจำนวนและแพร่กระจาย

ยาต้านการแบ่งตัวของเชื้อเอชไอวี

ยาต้านไวรัสเอชไอวีคืออะไร

ยาต้านไวรัส คือ ยาที่ใช้เพื่อลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ HIV มีการใช้ใน 2 ลักษณะ คือ ทั้งในช่วงก่อนหรือหลังจากการสัมผัสเชื้อเอชไอวี สำหรับยาที่รับประทานเพื่อลดความเสี่ยงก่อนการติดเชื้อนั้น เรียกว่ายา PrEP ซึ่งย่อมาจาก Pre-Exposure Prophylaxis (ยาต้านก่อนเสี่ยง) และยาที่รับประทานเพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อหลังจากสัมผัสเชื้อนั้น เรียกว่ายา PEP โดยย่อมาจาก Post -Exposure Prophylaxis (ยาต้านฉุกเฉิน)

ยาต้านไวรัสเอชไอวีเป็นยาที่ออกฤทธิ์ยับยั้งหรือต้านการแบ่งตัวของเชื้อเอชไอวี ช่วยป้องกันไม่ให้เชื้อไวรัสเข้าไปทำลายเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิด T-cell มีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อได้สูงสุดถึง 99% หากมีการใช้อย่างถูกวิธี

ประเภทของยาต้านหรือยารักษาเอชไอวี

ปัจจุบันยาต้านไวรัสเอชไอวีที่ใช้กันนั้น มีกลุ่มใหญ่ 3 กลุ่ม 

  • กลุ่มแรก คือ nucleoside reverse transcriptase inhibitors (RTIs) ยกตัวอย่างยาในกลุ่มนี้เช่น AZT (Retrovir), DDI (Videx), DDC (Hivid), 3TC (Epivir), และ D4T (Zerit) 
  • กลุ่มที่สอง คือ protease inhibitors (PIs) เช่น Indinavir (Crixivan), Nelfinavir (Viracept), Ritonavir (Norvir), Saquinavir 
  • กลุ่มที่สาม คือ non-nucleoside reverse transcriptase มียาที่ใช้อยู่ เช่น Delavirdine (Rescriptor), Efavirenz (Sustiva), Nevirapine (Viramune)

การรักษาด้วยยาต้านไวรัส

ยาต้านไวรัสเอชไอวี มีด้วยกันหลายชนิด ออกฤทธิ์แตกต่างกันไป การเลือกใช้ยาจะพิจารณาตามความเหมาะสม สำหรับผู้ป่วยแต่ละราย โดยแบบแผนการรักษาที่จะให้ผลดี และช่วยลดปัญหาเชื้อดื้อยาได้ จะต้องใช้ยา 3 ตัวรวมกันหรือมากกว่า ที่เรียกว่า Highly Active Antiretroviral Therapy (HAART) การรักษาด้วยวิธีนี้ ช่วยยับยั้งไวรัสและป้องกันไม่ให้กลายเป็นโรคเอดส์ หรือจะทำให้อัตราป่วยจากโรคแทรกซ้อน และอัตราการตายของผู้ป่วยเอดส์ ลดลงได้อย่างมาก ถึงแม้จะยังไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ก็ตาม ดังนั้นผู้ป่วยควรให้ความสำคัญกับการรับประทานยา ตามที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด

ใครบ้างควรรับยาต้านไวรัสเอชไอวี

     เมื่อผู้ป่วยมีอาการของโรคเอดส์ เซลล์ CD4 ลดลง มีปริมาณเชื้อมาก (viral load) การรักษาผู้ป่วยจะแยกเป็นกรณี ดังนี้

  • การรักษาหลังสัมผัสโรคติดเชื้อเอชไอวี ( Post-Exposure Prophylaxis) ผู้ที่ได้รับสัมผัสเชื้อภายใน 72 ชั่วโมง การให้ยาแก่คนที่สัมผัสโรคสามารถป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี ได้ โดยผู้ที่สัมผัสโรคต้องปรึกษากับแพทย์ว่ามีความจำเป็นมากน้อยแค่ไหน ให้ยา และจะให้ยานานแค่ไหน ผลข้างเคียงของยามีอะไรบ้าง
  • Primary Infection หมายถึงภาวะตั้งแต่เริ่มได้รับเชื้อจนกระทั้งภูมิต่อเชื้อเอชไอวี เพิ่มจนสามารถตรวจพบได้ ระยะนี้มีเวลาประมาณ 12-20 สัปดาห์ หากพบผู้ป่วยระยะนี้ต้องรีบให้การรักษาโดยเร็ว แพทย์ส่วนใหญ่แนะนำว่าให้รับประทานตลอดชีวิต แต่บางท่านแนะนำให้รับประทานยา 24 เดือนแล้วลองหยุดยา
  • ผู้ที่ติดเชื้อเอชไอวี โดยที่ไม่มีอาการ (Asymptomatic Patients with Established Infection ) การรักษาผู้ที่ติดเชื้อซึ่งไม่มีอาการยังเป็นที่ถกเถียงกันว่าจะมีประโยชน์หรือไม่ แต่ก็มีคำแนะนำในการรักษาตามตารางข้างล่าง

กินยาต้านยาต้านไวรัสเอชไอวี อย่างไร ให้ได้ผลดี

  1. กินยาตรงเวลา ทุกมื้อ และทุกวัน
  2. อย่าเปลี่ยนยาด้วยตนเอง โดยไม่ปรึกษาแพทย์ ถ้าพบว่าปฏิบัติตามแผนการรักษาได้ยาก ควรปรึกษาแพทย์
  3. หากจะใช้ยาอื่นนอกเหนือที่แพทย์สั่ง ควรปรึกษาแพทย์และเภสัชกรก่อนทุกครั้ง
  4. ควรกินอย่างสม่ำเสมอ หากหยุดยาระยะหนึ่งแล้วมากินต่อ ก็อาจทำให้เกิดเชื้อดื้อยา การรักษาจะยิ่งยากมากขึ้น
  5. ยาที่กินวันละ 1 ครั้ง ที่ฉลากยาอาจระบุ  “ ทุก 24 ชั่วโมง ” จะกินเวลาไหนก็ได้ แต่ต้องเป็นเวลาเดียวกันทุกวัน 
  6. ยาที่กินวันละ 1 ครั้ง ก่อนนอน   เป็นยาที่กินก่อนนอน  และต้องกินเวลาเดียวกันทุกวัน  
  7. ยาที่กินวันละ 2 ครั้ง ที่ฉลากยาอาจระบุ  “ ทุก 12 ชั่วโมง ” หรือ  “ เช้า-เย็น ”
  8. นอกจากตรงเวลาแล้ว ยาบางชนิดจำเป็นต้องสัมพันธ์กับอาหารด้วย  เช่น  ยาก่อนอาหาร   ต้องกินตอนท้องว่าง หรือกินก่อนอาหารหนึ่งชั่วโมง เพราะจะช่วยให้ยาดูดซึมได้ดี
  9. กรณีที่ผู้ป่วยจัดยากินเองไม่ได้   ญาติก็สามารถช่วยจัดยาเตรียมไว้ให้ได้  โดยใส่กล่องแบ่งยา หรือซองแบ่งยา

ยาต้านไวรัสเอชไอวี รับได้ที่ไหน

ยาต้านไวรัสเอชไอวี ผู้ป่วยสามารถเข้ารับบริการได้ตามสถานบริการของรัฐ เอกชน หรือคลินิกเฉพาะทางที่มีแพทย์ประจำ เนื่องจากการรับยาต้องอยู่ภายใต้คำสั่งของแพทย์ และจำเป็นจะต้องมีการตรวจเลือดทุกครั้งที่รับยา เพื่อความปลอดภัย และลดผลข้างเคียงที่อาจจะตามมาได้หลังจากการรับยา

ยาต้านไวรัสเอชไอวี ราคา

  • PEP (30 tablets)  ราคา  2,500 – 18,200 บาท
  • PreP (30 tablets) ราคา 1,000 – 3,200 บาท
การทานยาต้านให้ตรงเวลา

ทำไมการรักษาด้วยยาต้านไวรัสจึงไม่ได้ผล?

เนื่องจากการรักษาผู้ติดเชื้อเอชไอวีและโรคเอดส์ต้องใช้เวลาในการรักษาระยะยาว ปัญหาที่พบคือ

  • ผลข้างเคียงจากยาต้านเอชไอวี บางรายพบผลข้างเคียงระยะสั้น บางรายพบผลข้างเคียงระยะยาว แพทย์จึงมีความจำเป็นต้องติดตามอาการ และผลการรักษาเป็นระยะๆ มีการเจาะเลือดทุก 6 เดือน เพื่อเป็นการติดตามผลข้างเคียงจากการใช้ยา ในกรณีที่พบผลข้างเคียงของยาต้านเอชไอวีและผู้ติดเชื้อไม่สามารถทนต่อยานั้นๆ ได้ แพทย์ก็จะทำการปรับเปลี่ยนยาให้เหมาะสมกับผู้ติดเชื้อแต่ละรายต่อไป
  • ผู้ที่ได้รับเชื้อเอชไอวี กับการทานยาต้านให้ตรงเวลานั้นมีความจำเป็นอย่างมาก เพราะจะช่วยรักษาระดับยาจะให้คงที่ในกระแสเลือด ช่วยลดปริมาณเชื้อไวรัสไม่เพิ่มจำนวน ลดผลข้างเคียงและโอกาสการดื้อยาในอนาคต ดังนั้นหากทานยาต้านไม่ตรงเวลา หรือขาดยา ก็อาจทำให้การรักษาไม่ได้ผล

บทความที่เกี่ยวข้อง

ยาต้านไวรัสเอไชวี (ARV) คืออะไร
U = U (ไม่เจอเท่ากับไม่แพร่)

อ้างอิงข้อมูลจากเว็บไซต์ :

  • ไขความเข้าใจผิดของ เอชไอวี กับ เอดส์ https://chulalongkornhospital.go.th/kcmh/line/
  • การติดเชื้อเอชไอวีและโรคเอดส์กับแนวทางการรักษาในปัจจุบันhttps://www.rama.mahidol.ac.th/th/knowledge_awareness_health/25aug2020-1352
  • ยาต้านไวรัส HIV แบบป้องกันและฉุกเฉิน คืออะไร รับได้ที่ไหนhttps://www.bangkoksafeclinic.com/th/arv/

รู้จักเป๊ป (PEP) ยาต้านฉุกเฉิน

เป๊ป (PEP) ยาต้านฉุกเฉิน
เป๊ป (PEP) ยาต้านฉุกเฉิน

ยาต้านไวรัสเอชไอวีเป็นยาที่ออกฤทธิ์ยับยั้งหรือต้านการแบ่งตัวของเชื้อเอชไอวี ช่วยป้องกันไม่ให้เชื้อไวรัสเข้าไปทำลายเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิด T-cell มีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อได้สูงสุดถึง 99% หากมีการใช้อย่างถูกวิธี

Exposure prophylaxis เป็นยาที่ทานเพื่อป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี เท่านั้น ไม่ได้รวมถึงโรคอื่น โดยก่อนการรับยาต้องมีการประเมินความเสี่ยงจากประวัติของคนไข้ว่าตรงตามเงื่อนไขการรับยาหรือไม่ ประกอบกับการตรวจเลือดตามมาตรฐานสากล(คนไข้ที่จะรับยาจะต้องมีผลเอชไอวี เป็นลบ) และยาในกลุ่มนี้ต้องพิจารณาจ่ายโดยแพทย์เท่านั้น

รู้จักยา PEP คืออะไร

PEP ย่อมาจาก post-exposure prophylaxis หรือยาต้านฉุกเฉิน ทานหลังจากมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวี  เป็นการรักษาระยะสั้นเพื่อป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี โดยยาที่ใช้ในกลุ่มนี้เป็นประเภท Nucleoside Reverse Transcriptase Inhibitors (NRTIs) Non-Nucleoside Reverse Transcriptase Inhibitor (NNRTIs) Integrase inhibitor strand transfer inhibitor (INSTs) และ Protease inhibitor(PIs) โดยทานยาครบตามที่แพทย์สั่ง

การทานยาเป๊ป(PEP) 

การทานยา เป๊ป(PEP) จำเป็นต้องทานให้เร็วที่สุดเท่าที่ทำได้ คือ ต้องทานภายในเวลา 72 ชั่วโมง หลังจากสัมผัสเชื้อมา หรือมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวี ซึ่งถ้าทานยาหลังจาก 72 ชั่วโมงไปแล้ว หรือทิ้งไว้นานก็จะทำให้ประสิทธิภาพการรักษาไม่ได้ผล 

การทานยา เป๊ป(PEP) จะต้องทานอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 1 เดือน และทานยาต้านไวรัสประกอบกัน 2-3 ชนิด ซึ่งเป็นวิธีเดียวกันกับผู้มีเชื้อเอชไอวี แต่ยาต้านไวรัสส่วนมาก มักมีผลข้างเคียง บางรายอาจมีอาการท้องเสีย ปวดหัว คลื่นไส้ อาเจียน และอิดโรย โดยผลข้างเคียงนี้อาจมีอาการรุนแรงในบางราย จนทำให้เป็นสาเหตุของผู้ทานยา หยุดยาไปก่อนที่จะทานครบกำหนด

สาเหตุที่ต้องรับยาเป๊ป ( PEP )

ยาเป๊ป (PEP) เป็นยาต้านฉุกเฉิน ในกรณีการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกันและควรเก็บไว้ใช้ในกรณีฉุกเฉินเท่านั้น และการรับยา PEP จะช่วยยับยั้งการกลายเป็นตัวไวรัสที่สมบูรณ์ ซึ่งจะทำให้ร่างกายของผู้ป่วยสร้างระบบภูมิคุ้มกันในการป้องกันก่อนจะแพร่กระจายในร่างกายได้ ดังนั้นจึงควรรับประทานยาให้เร็วที่สุด

ใครบ้างที่ควรได้รับยาเป๊ป ( PEP )

  • ผู้ที่มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ป้องกัน ถูกข่มขืน หรือ มีการป้องกันแต่มีอุบัติเหตุเกิดขึ้นระหว่างมีเพศสัมพันธ์เช่น ถุงยางหลุด ถุงยางฉีกขาด ฯลฯ
  • ผู้ที่มีเพศสัมพันธ์ หรือ สัมผัสเลือด หรือ ได้รับสารคัดหลั่งจากผู้ติดเชื้อเอชไอวี
  • ไม่ได้สติขณะมีเพศสัมพันธ์ ซึ่งอาจเกิดจากฤทธิ์แอลกอฮอล์หรือฤทธิ์ยาบางชนิด
  • การใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน
  • บุคคลากรทางการแพทย์ที่เกิดอุบัติเหตุ มีดบาด เข็มตำในโรงพยาบาลจากการทำหัตถการให้คนไข้
  • มีความถี่ในการเปลี่ยนคู่นอนบ่อย
  • มีเพศสัมพันธ์กับคนที่ให้บริการทางเพศบ่อย
  • มีการเข้ารับยาเป๊ป (PEP) บ่อยครั้ง
  • มีการตรวจพบโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา

จะรับยาเป๊ป ( PEP )  มีขั้นตอนอย่างไร

หากคุณมีความเสี่ยงที่จะได้รับเชื้อเอชไอวี

  1. ขั้นตอนแรกต้องเข้ามารับคำปรึกษาประเมินความเสี่ยงโดยแพทย์ก่อน
  2. หลังจากนั้นหากแพทย์ประเมินแล้วว่ามีความเสี่ยงสมควรได้รับยา PEP  จริง จะต้องมีการเจาะเลือดคนไข้เพื่อตรวจว่าไม่ได้ติดเชื้อเอชไอวี อยู่ก่อนแล้ว รวมถึงตรวจคัดกรองโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆ และสุขภาพโดยรวม ค่าไตค่าตับของคนไข้ด้วย ว่าพร้อมจะกินยาหรือไม่
  3. เข้าพบแพทย์ เพื่อเลือกตัวยาที่เหมาะสม
  4. รับยากลับบ้าน

ยาเป๊ป ( PEP ) ป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี ได้กี่เปอร์เซ็นต์

การใช้ยา PEP ไม่ได้หมายความว่าจะป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี ได้ 100% แต่เนื่องจากปัจจัยที่มีผลต่อการที่คนคนนึงจะติดเชื้อเอชไอวี หรือไม่หลังได้รับยา PEP นั้นมีมากมายหลายข้อ ไม่ว่าจะเป็นแหล่งของโรคที่รับเชื้อมา ว่ามีปริมาณ viral load มากน้อยแค่ไหน ความเข็งแรงของตัวคนไข้เอง ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ล้วนส่งผลต่อโอกาสที่คนไข้จะติดหรือไม่ติดเชื้อเอชไอวีทั้งสิ้น   

กินยาภายใน72ชั่วโมง

ต้องกินยาเป๊ป ( PEP ) นานแค่ไหน

การกินยา PEP ให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุดจะต้องกินภายใน 72 ชั่วโมงหลังได้รับความเสี่ยง โดยกินอย่างสม่ำเสมอทุกวัน(กินเวลาเดิม) ต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 28 วัน โดยสูตรยาที่กินจะมีทั้งแบบวันละครั้งและวันละ 2 ครั้ง หลังจากกินยาครบแพทย์จะนัดคนไข้มาเจาะเลือดเพื่อตรวจเอชไอวี อีกครั้ง

ยาเป๊ป ( PEP )  ฟรี 

การรับยา PEP สามารถเข้ารับบริการได้ตามสถานบริการของรัฐ เอกชน หรือคลินิกเฉพาะทางที่มีแพทย์ประจำ เนื่องจากการรับยาต้องอยู่ภายใต้คำสั่งของแพทย์ และจำเป็นจะต้องมีการตรวจเลือดทุกครั้งที่รับยา เพื่อความปลอดภัย และลดผลข้างเคียงที่อาจจะตามมาได้หลังจากการรับยา

ยาเป๊ป ( PEP ) ซื้อที่ไหน

อย่างแรกก่อนการรับยาเป๊ป คุณจะต้องเข้ารับการตรวจเลือดเพื่อหาเชื้อไวรัสเอชไอวีเสียก่อน เป็นการยืนยันผลว่าคุณไม่ได้มีเชื้ออยู่ก่อนแล้ว เพราะถ้าหากคุณมีเชื้อเอชไอวี จะไม่สามารถใช้ยาเป๊ปได้ รวมถึงมีการตรวจไวรัสตับอักเสบบี และตรวจโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆด้วย การทานยาต้านฉุกเฉินนี้จำเป็นต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ ไม่สามารถหาซื้อทานได้เองตามร้านขายยาทั่วไป หรือทางออนไลน์ 

ทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์แบบเสี่ยงๆ สามารถใช้ ยาเป๊ป ( PEP )ได้ตลอดไหม

ยา PEP ควรเก็บไว้ใช้ในกรณีฉุกเฉินเท่านั้น หากเรารู้ตัวว่าจะต้องมีความเสี่ยงของการติดเชื้อเอชไอวี อยู่เป็นประจำ ควรใช้ยา PrEP ที่เอาไว้ทานร่วมกับการใช้ถุงยางอนามัยเพื่อลดโอกาสการติดเชื้เอชไอวี จะเป็นวิธีที่เหมาะสมและประหยัดค่าใช้จ่ายมากกว่า

บทความที่เกี่ยวข้อง

อ้างอิงข้อมูลจากเว็บไซต์ :

  • ยา PEP (เป๊ป) ยาต้านฉุกเฉิน ป้องกัน hiv คืออะไร ? อันตรายไหม ? https://www.bangkoksafeclinic.com/th/pepเป็บ/