แผลริมอ่อน (Chancroid) เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ชนิดหนึ่ง เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียที่ชื่อว่า Haemophilus Ducreyi สามารถเกิดได้ทั้งในเพศชายและเพศหญิงและติดต่อกันได้ง่ายมาก ผู้ป่วยจะมีแผลเกิดขึ้นที่บริเวณอวัยวะเพศ ต่อมาจะพบต่อมน้ำเหลืองที่ขาหนีบบวมโตติดกันเป็นพืดและเจ็บ โรคนี้บางครั้งเรียกว่า “ซิฟิลิสเทียม” เนื่องจากทำให้เกิดแผลได้เช่นเดียวกัน แต่จะต่างกันตรงที่แผลริมอ่อน จะมีอาการเจ็บและปวด แต่แผลซิฟิลิสจะไม่เจ็บและปวด แผลริมอ่อนสามารถรักษาให้หายขาดได้ด้วยการรับประทานยาปฏิชีวนะตามที่แพทย์สั่ง
แผลริมอ่อน สาเหตุเกิดจากอะไร ?
สาเหตุของแผลริมอ่อน เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย Haemophilus Ducreyi ซึ่งอาจเข้าสู่ร่างกายได้หลายทาง เช่น ทางผิวหนังที่เกิดบาดแผลหรือมือที่มีเชื้อไปสัมผัสโดนดวงตา รวมถึงการสัมผัสถูกเชื้อในขณะมีเพศสัมพันธ์ทุกรูปแบบ ทั้งการร่วมเพศทางปาก ทางทวารหนัก หรือการมีเพศสัมพันธ์แบบชายหญิงโดยปกติ ระยะฟักตัวของโรคจะอยู่ที่ประมาณ 5 – 7 วัน จึงเริ่มแสดงอาการให้เห็น
แผลริมอ่อน อาการเป็นอย่างไร ?
หลังจากได้รับเชื้อแผลริมอ่อนประมาณ 5 – 7 วัน จะเริ่มจากการเป็นตุ่มนูนและมีอาการเจ็บบริเวณอวัยวะเพศ หลังจากนั้นจะมีแผลเล็ก ๆ อาจมีหลายแผลหรือมีเพียงแผลเดียวก็ได้ แต่โดยส่วนใหญ่แล้วมักจะมีหลายแผล ต่อมาแผลเล็ก ๆ เหล่านี้จะขยายรวมกันเป็นแผลใหญ่ ลักษณะของแผลจะดูคล้ายกับแผลเปื่อย นุ่ม แฉะไม่สะอาด มีเนื้อเยื่อเละ ๆ ที่ก้นแผล ส่วนที่ขอบแผลจะนูน ไม่แข็ง และไม่เรียบ จึงเรียกโรคนี้ว่า “แผลริมอ่อน”
แผลริมอ่อน คล้ายกับโรคอะไรบ้าง?
แผลริมอ่อนจะมีลักษณะเหมือนกับแผลจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆได้ เช่น
- ซิฟิลิส : ในระยะที่เป็นแผลที่อวัยวะเพศ แต่ลักษณะแผลของซิฟิลิสจะขอบนูนแข็ง ไม่เจ็บ
- เริมอวัยวะเพศ : ลักษณะจะเป็นแผลตุ่มน้ำเล็กๆหลายๆแผล, มีลักษณะเจ็บ
- ฝีมะม่วง : จะมีต่อมน้ำเหลืองที่ขาหนีบบวมโต อาจข้างเดียวหรือทั้งสองข้าง, แต่มักไม่มีแผลที่อวัยวะเพศ
แผลริมอ่อน ป้องกันอย่างไร?
- ไม่เปลี่ยนคู่นอนบ่อย
- ใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์
- รักษาความสะอาดของร่างกาย โดยเฉพาะบริเวณอวัยวะเพศ
- หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่มีบาดแผลบริเวณอวัยวะเพศ
แผลริมอ่อน รักษาอย่างไร ?
แผลริมอ่อน สามารถรักษาให้หายขาดได้ ด้วยการรับประทานยาปฏิชีวนะให้ครบถ้วนตามที่แพทย์สั่งและไม่มีพฤติกรรมสุ่มเสี่ยงซ้ำ (หากรักษาไม่ครบจะทำให้เชื้อดื้อยา) ซึ่งแพทย์จะให้การรักษาด้วยยาขนานใดขนานหนึ่งดังต่อไปนี้
- อะซิโทรมัยซิน (Azithromycin) ขนาด 1 กรัม โดยให้รับประทานเพียงครั้งเดียว
- โอฟล็อกซาซิน (Ofloxacin) ขนาด 400 มิลลิกรัม โดยให้รับประทานเพียงครั้งเดียว
- เซฟไตรอะโซน (Ceftriaxone) ขนาด 250 มิลลิกรัม ด้วยการฉีดเข้ากล้ามเพียงครั้งเดียว
- อิริโทรมัยซิน (Erythromycin) ครั้งละ 500 มิลลิกรัม วันละ 4 ครั้ง นาน 7 วัน
- ไซโพรฟล็อกซาซิน (Ciprofloxacin) ขนาด 500 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง เป็นเวลา 3 วัน (ยานี้ห้ามใช้ในสตรีตั้งครรภ์และขณะให้นมบุตร)
ดูแลตัวเองอย่างไรเมื่อเป็น แผลริมอ่อน
- ควรพบแพทย์เพื่อรับการรักษาที่ถูกต้อง
- รับประทานยาตามแพทย์สั่ง
- ไม่ควรซื้อยารับประทานเอง
- ดูแลความสะอาดบริเวณแผล
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสแผลที่อวัยวะเพศ
- งดมีเพศสัมพันธ์ขณะมีแผลจนกว่าแผลจะหายปกติแล้ว
ขอบคุณข้อมูล : Medthai ,Pobpad ,Haamor