หูดหงอนไก่ (genital wart) เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่พบได้บ่อยโรคหนึ่ง ลักษณะเป็นหูดที่เกิดที่อวัยวะเพศ รวมทั้งที่ทวารหนัก สาเหตุเกิดจากเชื้อไวรัสที่มีชื่อเรียกว่า human papilloma virus โดยทั่วไปมักพบ เป็นติ่งเนื้อสีชมพูรวมกันเป็นก้อนคล้ายหงอนไก่ พบได้หลายรูปแบบ อาจมีจำนวนและขนาดที่แตกต่างกันได้มาก และอาจพบได้มากกว่าหนึ่งแห่ง มักพบเป็นก้อนเนื้อผิวขรุขระ ก้อนเนื้ออาจรวมตัวกันเป็นก้อนใหญ่ก้อนเดียว หรือเป็นก้อนเนื้อหรือติ่งเนื้อเล็กๆหลายก้อน ตำแหน่งที่พบบ่อยเป็นที่บริเวณคอคอดของอวัยวะเพศชาย นอกจากนี้ยังพบได้มากที่บริเวณแคมช่องคลอดและปากมดลูกของเพศหญิง
อาการหูดหงอนไก่
โดยส่วนใหญ่แล้วผู้ติดเชื้อ ไวรัสเอชพีวี มักจะไม่แสดงอาการของหูดหงอนไก่ แต่บางรายหากได้รับเชื้อก็อาจมีอาการแสดงออกมาให้เห็นได้ โดยอาจเริ่มแสดงตั้งแต่หลังได้รับเชื้อไม่กี่สัปดาห์ ไปจนถึงหลายเดือน หลายปี หลังจากได้รับเชื้อครั้งแรก อาการของหูดหงอนไก่ อาจแสดงให้เห็นในลักษณะของติ่งเนื้อเรียบหรือขรุขระ เป็นตุ่ม มีสีต่างจากผิวหนัง และมีผิวบริเวณอวัยวะเพศและทวารหนักที่เปลี่ยนแปลงไป ในบางราย หูดที่เกิดขึ้นอาจมีลักษณะเล็กมากจนไม่สามารถวินิจฉัยได้ ขณะที่หูดที่เกิดขึ้นจะไม่ทำให้เกิดอาการเจ็บ แต่ก็มีบางกรณีที่มีอาการคันการอักเสบ และเป็นสาเหตุให้เกิดเลือดออกที่ท่อปัสสาวะ ช่องคลอด และช่องทวารหนักได้
ทั้งนี้ ผู้ป่วยโรคหูดหงอนไก่อาจมีหูดหงอนไก่ขึ้นเพียงบริเวณเดียว หรือเกิดขึ้นหลายแห่ง และหูดที่ขึ้นมักมีลักษณะคล้ายกับดอกกะหล่ำ โดยหูดที่เกิดขึ้นในผู้ชายและผู้หญิง
การวินิจฉัยหูดหงอนไก่
หูดหงอนไก่ สามารถให้การวินิจฉัยได้จากลักษณะประวัติอาการ และการตรวจพบหูดที่มีลักษณะดังกล่าวข้างต้น ในรายที่อาการไม่ชัดเจน อาจใช้การตรวจทางห้องปฏิบัติการเข้าช่วย เนื่องจากเชื้อไวรัสยังเพาะเลี้ยงไม่ได้ วิธีทางห้องปฏิบัติการที่นิยมใช้เป็นวิธีการตรวจจากตัวอย่างตรวจโดยตรง เป็นการตรวจหาเซลล์ติดเชื้อ อนุภาคไวรัส หรือจีโนมของไวรัสจากชิ้นเนื้อหูด การตรวจหาจีโนมของไวรัสเอชพีวีเป็นวิธีที่มีความไวมาก เพราะในเซลล์ที่ติดเชื้ออาจมีจีโนมของไวรัสอยู่ แต่ยังไม่มีการแสดงออก เซลล์ติดเชื้อจึงยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงรูปร่าง สร้างแอนติเจน หรืออนุภาคไวรัส ออกมาให้ตรวจพบ
วิธีป้องกันหูดหงอนไก่
การป้องกันการติดโรคหงอนไก่ ปัจจุบันไม่มีวิธีรักษาหูดหงอนไก่ได้ 100% แต่เพื่อลดโอกาสเสี่ยงในการติดเชื้อเอชพีวี ควรปฏิบัติด้วยวิธี ดังต่อไปนี้
- มีเพศสัมพันธ์เฉพาะคู่นอนของตน
- ไม่ควรเปลี่ยนคู่นอนบ่อยๆ
- ใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์
- ไม่ใช้เข็มฉีดยาร่วมกับผู้อื่น
- เมื่อพบรอยโรคต้องสงสัยหรือความผิดปกติที่สงสัยว่าเป็นหูดหงอนไก่ ควรรีบพบแพทย์
- ฉีดวัคซีนป้องกันการติดเชื้อ HPV
การรักษาหูดหงอนไก่
แม้ว่าหูดจะค่อยๆยุบหายไปเองได้ แต่กินเวลานาน และถ้าเป็นติ่งเนื้องอกใหญ่ๆตามบริเวณที่ชื้นแฉะ จะมีโอกาสหายเองได้น้อย ถ้าปล่อยให้ผู้ป่วยมีหูดที่อวัยวะสืบพันธุ์นานๆ จะมีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งได้ วิธีการรักษาโดยทาด้วยสารที่สกัดมาจากยางไม้ชนิดหนึ่ง เรียกว่า podophylline พบว่าได้ผลดี แต่อาจมีอันตรายข้างเคียงของยา และไม่ควรใช้ยานี้นานเกินกว่าหนึ่งเดือนจี้ด้วยไฟฟ้า หรือจี้โดยใช้ความเย็น เช่น ก๊าซไนโตรเจนเหลว ทำการผ่าตัดออก การจี้ด้วยเลเซอร์ สามารถใช้ได้ผลดี โดยเฉพาะในตำแหน่งที่ยากต่อการรักษา ในกรณีที่เป็นตอนตั้งครรภ์ อาจทำให้ไม่สามารถคลอดทางช่องคลอดได้ ต้องใช้การคลอดด้วยการผ่าตัดแทน สำหรับผู้ที่ได้รับวัคซีนมะเร็งปากมดลูกซึ่งเป็นวัคซีนชนิดผสมเชื้อไวรัสรวมสี่ชนิด ได้แก่ HPV types 6, 11, 16, 18 ซึ่งปัจจุบันใช้กันอย่างแพร่หลายในการป้องกันการเกิดมะเร็งปากมดลูก พบว่าวัคซีนชนิดนี้สามารถป้องกันการเกิดโรคหูดหงอนไก่ได้เช่นกัน ป้องกันการติดโรคใหม่โดยตรวจคู่เพศสัมพันธ์ หรือหลีกเลี่ยงแหล่งที่อาจมีเชื้อไวรัส
วิธีดูแลตัวเองเมื่อเป็นหูดหงอนไก่
- พบแพทย์ตามนัดสม่ำเสมอ
- หมั่นตรวจอวัยวะเพศตัวเองเพื่อหารอยโรค
- งดมีเพศสัมพันธ์ หากจำเป็นควรใช้ถุงยางอนามัย เพื่อลดการแพร่กระจายเชื้อ
- ล้างมือให้สะอาดด้วยเจลแอลกอฮอล์เป็นประจำหลังสัมผัสรอยโรค
- งดสูบบุหรี่ ดื่มสุรา สารเสพติด
- งดสำส่อนทางเพศ
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
- ผู้หญิงที่เป็นหูดหงอนไก่บริเวณปากมดลูก อาจเสี่ยงเป็นมะเร็งปากมดลูก ควรตรวจหามะเร็งปากมดลูกอย่างน้อยปีละครั้ง
- ระหว่างรักษาหูดหงอนไก่ หากมีอาการผิดปกติ หรือกังวลใจในอาการที่เป็นอยู่ ควรรีบพบแพทย์ก่อนนัด
ขอบคุณข้อมูล : bangkokhealth thairath pobpad