ถุงยางแตก ตรวจ HIV เลยได้ไหม?

ถุงแตก ถุงยางอนามัย ยาเป๊ป PEP ตรวจเอชไอวี ถุงยางรั่ว ถุงยางหลุด ยาต้านไวรัสเอชไอวีฉุกเฉิน ยาเอดส์ ตรวจเลือด

หลายคนคงไม่คิดว่า ไอ้เจ้าถุงยางอนามัยที่เราใช้ในการมีเพศสัมพันธ์นี้ จะสามารถแตกได้ บางคนกำลังเข้าด้ายเข้าเข็ม จู่ ๆ ถุงยางเจ้ากรรมก็ดันแตก ขาด หลุด หรือรั่วขึ้นมาเสียได้ นอกจากจะเสี่ยงต่อเชื้อเอชไอวี โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ แล้ว ในผู้หญิงก็ยังมีความเสี่ยงที่จะตั้งครรภ์อีกด้วย ทำเอาทั้งคู่เสียอาการ วิตกกังวล บางคนยิ่งแล้วใหญ่ เสร็จกิจแล้วถึงเพิ่งมารู้สึกตัวว่าถุงยางแตกไปเรียบร้อย แต่ไม่ต้องเครียดมากนัก ปัญหานี้มีทางออก วันนี้เรามีคำแนะนำที่ทำให้คุณผ่านเรื่องไม่คาดคิดเหล่านี้ไปได้ครับ

เพราะอะไรถุงยางถึงแตก?

ก่อนอื่นต้องทราบกันก่อนว่าทำไมถุงยางอนามัยถึงแตกได้ล่ะ?!

ลืมเช็ควันหมดอายุ

คุณอาจซื้อถุงยางอนามัยมาเก็บไว้นานแล้ว จนมันหมดอายุ ถุงยางอนามัยที่เก่ามาก จะส่งผลต่อประสิทธิภาพในการใช้งาน ทางที่ดีควรเช็ควันหมดอายุก่อนนำมาใช้ หรือหากซื้อใหม่ก็ควรดูวันหมดอายุด้วย เพราะเราไม่รู้ว่าทางร้านค้าที่จำหน่ายถุงยางอนามัยนั้น นำสินค้ามาจัดวางนานเท่าใดแล้ว หากหมดอายุหรือใกล้หมดอายุ ไม่ควรนำมาใช้เด็ดขาด

เลือกผิดไซส์

คุณอาจเลือกใช้ถุงยางอนามัยที่ขนาดไม่เหมาะสมกับน้องชายของคุณก็เป็นได้ หากมีขนาดเล็กเกินไป ก็ทำให้แตกได้ เพราะไม่มีพื้นที่เหลือบริเวณปลายสุดของถุงยางอนามัย พอหลั่งอสุจิออกมา จึงทำให้แตกรั่ว หากมีขนาดใหญ่เกินไป ก็ทำให้มีโอกาสหลุดออกจากอวัยวะเพศขณะมีการสอดใส่ได้

เก็บไว้ผิดที่

สังเกตหรือไม่ว่าตัวคุณเองเก็บถุงยางอนามัยไว้ที่ไหน? ถุงยางอนามัยไม่ควรอยู่ในรถยนต์ที่จอดตากแดดไว้นาน ๆ เพราะอุณหภูมิที่สูงจะทำให้ถุงยางอนามัยเสื่อมได้ หรือไม่ควรอยู่ในห้องครัว ห้องน้ำที่มีความชื้น ไม่ควรเก็บไว้ในกระเป๋าสตางค์ เพราะมันมีโอกาสที่จะทำให้กระเป๋าบีบรัดถุงยางอนามัยให้เกิดการฉีกขาดได้

แกะใช้ไม่ระมัดระวัง

ถุงยางอนามัยอาจแตกได้ หากเราแกะซองใช้ไม่ระวัง เช่น ใช้กรรไกรหรือมีดตัดโดนใส่ ใช้เล็บจิก ใช้ฟันกัดจนขาด เป็นต้น เพราะฉะนั้นอย่ารีบร้อน ค่อย ๆ ฉีกซองถุงยางอนามัยอย่างเบา ๆ ตามรอยปรุที่เขาได้ทำไว้ให้แล้ว ระมัดระวังอย่าให้เล็บโดนใส่ถุงยางอนามัย รวมถึงตอนสวมถุงยางอนามัยให้น้องชายของคุณด้วย

ใช้สารหล่อลื่นผิดประเภท

การมีเพศสัมพันธ์ หากสารหล่อลื่นจากอวัยวะเพศมีน้อยเกินไป อาจทำให้ถุงยางแตกได้ หรือในรายที่เป็นคู่รักชายรักชาย การมีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนักอาจต้องใช้สารหล่อลื่นเข้าช่วย หลายคนเลือกใช้ผิดประเภท ไปใช้สารหล่อลื่นชนิดน้ำมันที่ไปทำปฏิกิริยากับถุงยางอนามัย ทำให้วัสดุของมันเสื่อมสภาพ เพราะฉะนั้นควรเลือกสารหล่อลื่นชนิดละลายน้ำแทน หรือชนิดที่ไม่มีส่วนผสมของน้ำมันก็จะช่วยป้องกันได้

มีเซ็กส์ที่รุนแรงหรือขาดสติ

การมีเพศสัมพันธ์ที่รุนแรง ไม่ว่าจะเป็นเพราะการดื่มแอลกอฮอล์จนขาดสติ หรือการใช้สารเสพติดเป็นตัวกระตุ้นให้มีเซ็กส์นานขึ้น เกิดการเสียดสีแรง ๆ หรือมีท่าทางที่ผิดแผกแปลกไปจากปกติ ก็อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้ถุงยางอนามัยแตกได้ เพราะความจริงแล้วอายุในการใช้งานของถุงยางอนามัยจะอยู่ได้ครั้งละ 30 นาทีเท่านั้น หากใช้นานกว่านั้นประสิทธิภาพของมันก็จะลดลงเรื่อย ๆ เสี่ยงต่อการแตก และฉีกขาดได้เสมอ

ใส่ถุงยางอนามัยผิดวิธี

เชื่อหรือไม่ ผู้ชายบางคนยังใส่ถุงยางอนามัยไม่เป็นเสียด้วยซ้ำ การใส่ถุงยางอนามัยที่ถูกวิธีจะต้องใส่ขณะที่น้องชายของคุณแข็งตัวเท่านั้น และต้องบีบกระเปาะตรงปลายถุงเพื่อไล่ฟองอากาศก่อนใส่ ถ้าไม่ทำจะเกิดการเสียดสีไปมาขณะมีเซ็กส์ จนทำให้ถุงยางอนามัยแตกนั่นเอง รวมถึงบางคนก็ยังใส่ถุงยางอนามัยผิดด้าน เพราะฉะนั้นก่อนมีอะไรกับใคร ทดลองใส่ถุงยางอนามัยให้ถูกวิธีเสียก่อน จะได้ไม่ต้องมาแก้ปัญหากันทีหลังครับ

ถุงยางแตก เสี่ยงต่อโรคอะไรบ้าง?

  • ไวรัสเอชไอวี
  • ซิฟิลิส
  • หนองในแท้
  • หนองในเทียม
  • เริม
  • หูดหงอนไก่
  • ไวรัสตับอักเสบบี
  • ไวรัสตับอักเสบซี
  • ไวรัสเอชพีวี
  • แผลริมอ่อน
  • ฝีมะม่วง
  • การติดเชื้อทริโคโมแนส ฯลฯ

ทำอย่างไรเมื่อถุงยางแตก?

ตั้งสติและจัดการกับอวัยวะเพศของตนเองก่อน
รีบปรึกษาแพทย์ เพื่อขอรับยาเป๊ปมาทานให้เร็วที่สุด
ตรวจคัดกรองเบื้องต้นก่อนเริ่มทานยา
ทานยาเป๊ปให้ครบและตรงต่อเวลา
ตรวจเลือดอีกครั้งหลังทานยาครบ

1. ตั้งสติและจัดการกับอวัยวะเพศของตนเองก่อน

ผู้หญิง

  • ควรรีบเข้าห้องน้ำเพื่อขับปัสสาวะออกมา ด้วยการนั่งยอง ๆ ขมิบกล้ามเนื้อบริเวณช่องคลอด เพื่อขับตัวอสุจิที่อาจอยู่ใกล้ท่อปัสสาวะให้ออกมา
  • ไม่ควรฉีดน้ำล้างข้างในช่องคลอด เพราะจะยิ่งทำให้อสุจิหรือเชื้อไวรัสเข้าไปข้างในมากขึ้น อาจเสี่ยงต่อการตั้งครรภ์ และได้รับเชื้อไวรัสเอชไอวี เชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ ให้ทำความสะอาดอวัยวะเพศด้วยการใช้น้ำอุ่นราดลงไปพร้อมนั่งท่ายอง ๆ ก็เพียงพอแล้ว

“ความจริงแล้วผู้หญิงก็ไม่ควรฉีดน้ำล้างช่องคลอดอยู่แล้ว เพราะบริเวณนั้นจะมีแบคทีเรียที่ช่วยป้องกันการเกิดภาวะช่องคลอดอักเสบจากเชื้อโรคต่าง ๆ หากฉีดล้างก็จะทำให้มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น”

  • รีบทานยาคุมฉุกเฉินภายใน 72 ชม. หากไม่ได้คุมกำเนิดด้วยวิธีอื่นอยู่ก่อนแล้ว

ผู้ชาย

  • หากมีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนัก ควรเข้าห้องน้ำเพื่อถ่ายหนัก จะเป็นการช่วยขับอสุจิที่อาจตกค้างอยู่ภายในให้ออกมามากที่สุด
  • ไม่ควรฉีดน้ำล้างข้างในทวารหนัก เหมือนกันกับช่องคลอดของผู้หญิง เพราะจะทำให้เสี่ยงที่จะติดเชื้อไวรัสเอชไอวีและเชื้อจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้
ยาเป๊ป PEP ยาต้านฉุกเฉิน ถุงแตก ถุงหลุด ถุงยางอนามัย เอชไอวี เอดส์

2. รีบปรึกษาแพทย์ เพื่อขอรับยาเป๊ปมาทานให้เร็วที่สุด

ยาเป๊ป หรือยาต้านไวรัสเอชไอวีฉุกเฉิน (Post -Exposure Prophylaxis : PEP) คือ ยาสำหรับผู้ที่ความเสี่ยงต่อเชื้อเอชไอวีมาแล้วไม่เกิน 72 ชั่วโมง เช่น ผู้ที่มีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ได้ป้องกัน ผู้ที่ถุงยางอนามัยแตก รั่ว หรือหลุดออกขณะมีเพศสัมพันธ์ ผู้ที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศ หรือบุคลากรทางการแพทย์ที่เกิดอุบัติเหตุเข็มทิ่มตำโดยไม่ได้ตั้งใจ เป็นต้น ยาเป๊ป ทำหน้าที่ช่วยยับยั้งการแบ่งตัว และการกลายตัวเป็นไวรัสเต็มรูปแบบของเชื้อเอชไอวี ทำให้ร่างกายสามารถสร้างภูมิคุ้มกันเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของไวรัสในร่างกายได้นั่นเอง

3. ตรวจคัดกรองเบื้องต้นก่อนเริ่มทานยา

การที่จะทานยาเป๊ปได้ จะต้องทำการปรึกษาแพทย์เท่านั้น เพราะยาชนิดนี้ ไม่สามารถหาซื้อได้ทางออนไลน์ หรือตามร้านขายยาทั่วไป ผู้ที่มีความเสี่ยงจำเป็นต้องปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและทำการซักประวัติความเสี่ยงที่เกิดขึ้น เพื่อให้แพทย์พิจารณาว่าคุณสมควรทานยาเป๊ปหรือไม่

โดยจะต้องมีการตรวจคัดกรองเชื้อไวรัสเอชไอวีเสียก่อน แต่ผลเลือดจะเป็นผลย้อนหลัง ไม่ใช่ผลเลือดของความเสี่ยงครั้งล่าสุด เพื่อให้แน่ใจว่าผู้ที่มีความเสี่ยงไม่ได้มีเชื้อเอชไอวีอยู่ก่อนแล้ว รวมทั้งจะต้องมีการตรวจแล็บเพิ่มเติม เช่น ไวรัสตับอักเสบบี การทำงานของตับ การทำงานของไต เป็นต้น เพื่อให้มั่นใจว่าคุณสามารถทานยาเป๊ปได้จริง ๆ

4. ทานยาเป๊ปให้ครบและตรงต่อเวลา

การที่จะป้องกันเอชไอวีได้ คือคุณต้องให้ความสำคัญอย่างมากในการทานยาเป๊ปให้ครบและตรงต่อเวลา โดยจะต้องทานทุกวัน เป็นเวลา 28 วัน และควรเป็นเวลาเดียวกัน อาจจะใช้นาฬิกาปลุกเพื่อเตือนความจำ เพื่อไม่ให้ลืม การลืมทานยาเป๊ป หรือทานยาช้ากว่าเวลาปกติ ส่งผลให้ประสิทธิภาพในการป้องกันเอชไอวีลดลง และยังส่งผลต่ออาการดื้อยาในอนาคตอีกด้วย

5. ตรวจเลือดอีกครั้งหลังทานยาครบ

เมื่อทานยาครบตามกำหนดแล้ว ควรกลับไปตรวจเอชไอวีอีกครั้ง เพื่อที่เราจะได้รู้ว่ายาเป๊ปทำงานได้ดีหรือไม่ ผลเลือดของคุณเป็นลบหรือไม่ และควรกลับไปตรวจอีกครั้งหลังจากนี้อีก 3 เดือน และ 6 เดือนเพื่อให้มั่นใจมากที่สุดว่าการทานยาเป๊ปครั้งนี้ ช่วยให้คุณปลอดภัย ไม่ติดเชื้อเอชไอวีจริง ๆ

ป้องกันไม่ให้ถุงยางแตก ต้องทำอย่างไร

ถุงยางอนามัย ถุงแตก ถุงหลุด ขนาดถุงยางอนามัย ถุงยางหมดอายุ เจลหล่อลื่น สารหล่อลื่น วิธีใช้ถุงยางอนามัย

ปัญหาถุงยางอนามัยแตก ป้องกันได้ง่าย ๆ ด้วยวิธีดังต่อไปนี้ครับ

  • เลือกถุงยางอนามัยให้เหมาะสมกับอวัยวะเพศของตัวเอง
  • ตรวจสอบวันหมดอายุก่อนนำมาใช้งาน และแกะใช้ด้วยความระมัดระวัง
  • เลือกใช้สารหล่อลื่นชนิดน้ำ หรือเป็นสารหล่อลื่นที่ใช้เฉพาะถุงยางอนามัยเท่านั้น
  • เก็บถุงยางอนามัยให้ถูกที่ ไม่ควรเก็บไว้ในรถยนต์หรือในกระเป๋าสตางค์
  • สวมถุงยางอนามัยให้ถูกวิธี โดยใช้มือหนึ่งจับปลายถุงยาง และใช้มืออีกข้างค่อย ๆ รูดม้วนถุงยางจนถึงฐานอวัยวะเพศ ให้คลุมพอดีและไล่ฟองอากาศออกไปจนหมด และสวมถุงยางอนามัยเพียงชั้นเดียว
  • ทิ้งให้ปลอดภัย อย่าทิ้งลงในชักโครก ให้ห่อด้วยกระดาษทิชชู่มิดชิดก่อนทิ้งถังขยะ และไม่ควรนำกลับมาใช้ซ้ำ

อ่านบทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ